วันนี้ (23 ก.ย.2564) จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2564 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือถึงสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น อัตราการติดเชื้อลดลงต่อเนื่องจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง การรักษาพยาบาลรองรับได้ดีขึ้น ทั้งนี้พบการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเรือนจำ
นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ได้รับทราบการให้บริการวัคซีน COVID-19 ของไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดเรียนในสถานศึกษา รวมถึงผู้ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 4.5 ล้านคน เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตปกติในโรงเรียนอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2564
ตั้งเป้าไทยฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครบ 80% ธ.ค.นี้
ส่วนแผนการให้บริการวัคซีนช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.นี้ ไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามแผน 125 ล้านโดส จะมีผู้ได้รับวัคซีน 62 ล้านคน คิดเป็น 90% มีเป้าหมายฉีดเข็ม 1 ครอบคลุมอย่างน้อย 70% ภายในเดือนพ.ย.นี้ และ 80% ภายในธ.ค.นี้
ส่วนเข็มที่ 2 ครอบคลุมอย่างน้อย 70% ภายในเดือนธ.ค.นี้ ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด จะได้รับเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยจัดสรรเดือนละ 1-2 ล้านโดส ตั้งแต่ต.ค.-ธ.ค.นี้
ปรับเกณฑ์ลดเวลากักตัวเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เกณฑ์แนวทาง และแผนงานสำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยจะมีการปรับลดระยะเวลาการกักกันผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีการพิจารณาข้อมูลระยะเวลาที่พบการติดเชื้อในผู้เดินทางให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์
สำหรับแผนเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว อยู่ระหว่างการประเมินเตรียมความพร้อม กำหนดพื้นที่ขึ้นอยู่กับความครอบคลุมของวัคซีน สถานการณ์ อัตราการครองเตียง การบริหารจัดการของพื้นที่
จะเสนอศบค.พิจารณาโดยระยะแรกช่วงต.ค.นี้ จะทดลองรับนักท่องเที่ยวไทยเข้าพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ก่อนเปิดพื้นที่ในเดือนพ.ย.นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ รับทราบความคืบหน้าการเสนอร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ...ซึ่งครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว สาระสำคัญมีการกำหนดระบบและกลไกในการจัดการโรคติดต่อทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขึ้นมา เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเป็นเอกภาพ ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติยังได้เห็นชอบในหลักการระบบและแนวทางปฏิบัติในการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อพ.ศ. 2558 ให้รองรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา และสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อนุทิน" ปัดข่าวไม่เซ็นรับวัคซีนไฟเซอร์บริจาคจากสหรัฐฯ