ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบหอยทะเลจิ๋วชนิดใหม่ของโลกจากฟอสซิล "วาฬอำแพง"

Logo Thai PBS
พบหอยทะเลจิ๋วชนิดใหม่ของโลกจากฟอสซิล "วาฬอำแพง"
นักวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบหอยทะเลจิ๋วชนิดใหม่ของโลก พบอยู่ในโครงกระดูกวาฬที่มีอายุกว่า 3,380 ปี ในชั้นดินลึกลงไป 8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งชื่อ “หอยอำแพง” ตามสถานที่พบต.อำแพง จ.สมุทรสาคร

วันนี้ (1 ต.ค.2564) เพจเฟซบุ๊ก Kasetsart University ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)  เผยแพร่ข่าวดีว่า ทีมนักวิจัยนำโดยดร.ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ นายชาติชาย สุขเสริม นายวงศ์เวชช เชาวน์ชูเวชช และน.ส.ธนพร จิตรพันธ์ นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มก.ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ ดร.ดวงฤทัย แสแสงสีรุ้ง น.ส.พรรณิภา แซ่เทียน และนายอดุลย์วิทย์ กาวีระ นักธรณีวิทยาจากกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี ค้นพบหอยทะเลจิ๋วชนิดใหม่ของโลก คือ “หอยอำแพง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Orbitestella amphaengensis Ketwetsuriya & Dumrongrojwattana, 2021 โดยชื่อวิทยาศาสตร์มีที่มาจากสถานที่ค้นพบตัวอย่างหอยทะเลจิ๋วนี้ คือ ต.อำแพง จ.สมุทรสาคร

ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า หอยอำแพงเป็นหอยฝาเดียวที่มีเปลือกขนาดเล็ก ประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น มีการขดในแนวระนาบ รูปร่างแบน มีลักษณะเด่นคือการเรียงตัวของสัน เป็นลวดลายอยู่บนผิวเปลือกที่มีความสวยงาม เป็นลักษณะที่มีความแตกต่างจากหอยชนิดอื่นๆในสกุลเดียวกันอย่างชัดเจน

หอยอำแพง ยังเป็นหอยในสกุล Orbitestella  พบเป็นครั้งแรกในไทย และยังเป็นหอยฝาเดียวในวงศ์ Orbitestellidae ที่ถูกรายงานว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย 

เหตุผลที่รายงานว่าเก่าแก่ที่สุด เพราะซากหอยอำแพงนี้ ไม่ใช่หอยที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากพบในชั้นดินที่มีความลึกลงไปประมาณ 8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในพื้นที่ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลสมุทรสาคร ประมาณ 12 กิโลเมตร

พบร่วมกับโครงกระดูกวาฬที่มีอายุกว่า 3,380 ปี รวมทั้งซากฟันฉลาม ซากปลากระเบน ซากปู ซากไรน้ำกาบหอย พืชพรรณต่างๆ และซากหอยอื่นๆอีกมากกว่า 30 ชนิด ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแนวชายฝั่งและทะเล

ดังนั้นการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ในชั้นดิน จึงเป็นหลักฐานสำคัญทางธรณีวิทยาที่สามารถบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลของประเทศไทยในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศโบราณของพื้นที่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และยังสามารถเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยในอดีตอีกด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง