กังวลว่าน้ำท่วมปีนี้ มีสิทธิซ้ำรอยปี 54 อยากให้เอาความจริงมาบอกกับประชาชน ชาวบ้านไม่อยากรู้ว่าปล่อยน้ำท้ายเขื่อนเท่าไหร่ แต่อยากรู้ว่าน้ำจะท่วมวันไหน สูงกี่เมตร จะได้ปรับตัวได้ถูก
เสียงสะท้อนของ วิภูษา สุขมาก ชาวบ้านชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ช่วงกลางเดือนก.ย.นี้ แม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งบ่าเข้าท่วมบ้านชั้นล่างสูงประมาณ 30 ซม.
แม้จะชินกับน้ำท่วมมาตลอดชีวิต โดยเฉพาะช่วงมหาอุทกภัยปี 2554 ที่บ้านต้องจมน้ำสูงเกือบ 2 เมตรนานนับเดือน
เธอเล่าว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเจ้าพระยาน้ำล้นตลิ่ง แต่ไม่สูงมาก ทุกคนยังใช้ชีวิตได้ แต่สถานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากคำเตือนล่าสุดที่บอกว่า 7-10 ต.ค.นี้ แม่น้ำจะสูงขึ้นอีก 30-50 ซม.ก็สร้างความกังวลใจไม่น้อย
บทเรียนในปี 54 ไม่ทันตั้งตัวน้ำเข้าบ้านในช่วง 25 ก.ย.54 แต่ตอนนั้นยอมใช้ชีวิตอยู่บนบ้านชั้น 2 เพราะห้องน้ำยังใช้ได้ แต่ทุกบ้านละแวกนี้ปรับตัว บางหลังดีดบ้านให้สูงขึ้น บางบ้านทำคำกั้นน้ำสูงเป็นเมตร ที่บ้านก็ทำแบบนี้เช่นกัน
ส่วนการแก้ปัญหาในท้องถิ่นมีการทำคันกั้นน้ำในพื้นที่ จ.นนทบุรี ส่วนในชุมชนวางแนวกระสอบทรายไว้ประจำ และที่ผ่านมาจะมีการสูบน้ำออกจากชุมชน แต่ปีนี้การเตือน และการรับมือในระดับท้องถิ่นมีช่องว่างจากการเตรียมเลือกตั้ง อบต.ชุดใหม่ ทำให้หลายพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เจอน้ำท่วมสูงแล้ว
ตอนนี้น้ำเข้าบ้านแล้วประมาณ 50 ซม. ถ้ามวลน้ำก้อนใหญ่กำลังลงมาถึงน้ำจะสูงขึ้นอีก 30-50 ซม.และที่บ้านยอมปล่อยให้น้ำท่วมบ้าน เพราะคิดว่าการต่อสู้น้ำที่มาเยอะ มาแรงน่าจะลำบาก แต่ก็แอบภาวนาในใจว่าอย่าหนักเท่าปี 54
ทุกข์คนกรุง ย้อนความน้ำท่วมปี 54
ส่วนต้อง หนุ่มปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ที่มาใช้ชีวิตในเมืองกรุง เล่าเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ว่า เช่าห้องพักย่านปิ่นเกล้า ในซอยวัดดุสิตาราม ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และโรงพยาบาลศิริราช การเดินทางโดยใช้เรือข้ามฟากข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังบริเวณถนนพระอาทิตย์ใกล้กับข้าวสาร ทำให้รับรู้สถาน การณ์น้ำที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และคิดว่ารัฐบาลสามารถจัดการได้ แต่ได้เตรียมอาหารและน้ำสำรองไว้ประมาณ 1 สัปดาห์
ช่วง ต.ค.รอบนอกกทม.ทยอยน้ำท่วม ยังไปช่วยกรอกกระสอบทรายหลายแห่ง ทั้งเขตทวีวัฒนา จ.ปทุมธานี คลอง 6 และโรงพยาบาลศิริราช และยังคิดว่าที่พักตนเองอยู่ในพื้นที่ชั้นใน จึงคิดว่าไม่น่าจะเกิดน้ำท่วมหรือนาน
ต้อง เล่าว่า จนกระทั่งวันที่น้ำเข้ามาในพื้นที่ปิ่นเกล้า จำได้ว่าช่วงเช้าออกไปทำงานระดับน้ำอยู่ที่ตาตุ่มและได้พยายามปิดกั้นน้ำโดยใช้แผงกั้นและดินน้ำมัน จนกระทั่งช่วงเย็นระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนถึงระดับเอว หรือประมาณ 80 ซม.
ตัดสินใจนำสิ่งของที่สำคัญติดตัว และไปพักอาศัยกับญาติที่บริเวณอ่อนนุชเป็นระยะเวลา 1 เดือน และกลับมายังที่พักก็พบว่าข้าวของเสียหาย และได้ยื่นขอเงินชดเชยเยียวยา 5,000 บาท
ส่วนในปี 2564 คาดการณ์ว่าสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของไทย ยังมีระดับน้ำต่ำ จึงยังสามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงฝนที่ตกในพื้นที่กทม.ไม่มากนัก และมีเวลาที่จะระบายน้ำได้ทันจึงคาดว่าน้ำจะไม่ท่วมกทม.หรือรุนแรงเท่ากับปี 2554
อ่านข่าวเพิ่ม เตือน กทม.-ปทุมฯ-นนทบุรี เฝ้าระวังน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง 7-10 ต.ค.นี้
มหาอุทกภัยปี 54 & น้ำท่วมปี 64
ข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) รายงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตั้งแต่ปลายเดือนก.ค.-พ.ย.2554 จำนวน 65 จังหวัด เสียหาย 69 ล้านไร่
ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท มีประชาชนเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน 13,425,869 คน
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) รายงานพื้นที่น้ำท่วมในภาคกลาง และกทม. มีความเสียหายดังนี้
- กรุงเทพมหานคร 622,000 ไร่
- สมุทรปราการ 230,000 ไร่
- นนทบุรี 336,000 ไร่
- ปทุมธานี 879,000 ไร่
- พระนครศรีอยุธยา 1,515,000 ไร่
- อ่างทอง 529,000 ไร่
- ลพบุรี 606,000 ไร่
- สิงห์บุรี 468, 000 ไร่
- ชัยนาท 805,000 ไร่
- สระบุรี 394,000 ไร่
- ชลบุรี 193,000 ไร่
- นครสวรรค์ 1,989,000 ไร่
- อุทัยธานี 292,000 ไร่
- กำแพงเพชร 992,000 ไร่
- ตาก 850,000 ไร่
- สุโขทัย 957,000 ไร่
- พิษณุโลก 1,291,000 ไร่
- พิจิตร 1,453,000 ไร่
- เพชรบูรณ์ 407,000 ไร่
- ราชบุรี 134,000 ไร่
- กาญจนบุรี 129,000 ไร่
- สุพรรณบุรี 1,555,000 ไร่
ปี 2564 น้ำท่วมขัง 21 จังหวัด
ขณะที่สำนักงานพัฒนาพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) รายงานข้อมูลน้ำท่วมปี 2564 ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมพื้นที่ 21 จังหวัด ความเสียหาย 1,336,953 ไร่ แบ่งเป็น
ข้อมูลภาพจากดาวเทียม Sentinel-1 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคอีสาน 520,346 ไร่
- นครราชสีมา 248,355 ไร่
- ชัยภูมิ 150,061 ไร่
- ขอนแก่น 99,004 ไร่
- บุรีรัมย์ 13,909 ไร่
- สุรินทร์ 4,568 ไร่
- ร้อยเอ็ด 196 ไร่
- อุบลราชธานี 3,565 ไร่
- ศรีสะเกษ 362 ไร่
- อำนาจเจริญ 326 ไร่
ขณะที่ดาวเทียม COSMO-SkyMed-2 (คอมโม สกายเมด 2) ของวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา พบน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือ และภาคกลาง 12 จังหวัด จำนวน 816,607 ไร่ ดังนี้ล
- นครสวรรค์ 276,993 ไร่
- พิจิตร 203,780 ไร่
- พิษณุโลก 92,294 ไร่
- ลพบุรี 69,866 ไร่
- ชัยนาท 49,677 ไร่
- เพชรบูรณ์ 46,505 ไร่
- สุพรรณบุรี 26,529 ไร่
- อุทัยธานี 20,019 ไร่
- สิงห์บุรี 18,771 ไร่
- อ่างทอง 8,033 ไร่
- สระบุรี 3,689 ไร่
- พระนครศรีอยุธยา 451 ไร่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งเฝ้าระวังระดับน้ำอ่างเก็บน้ำ "แก่งกระจาน-ปราณบุรี-ห้วยไทรงาม" วันที่ 6 - 10 ต.ค.นี้
เช็กน้ำ 4 เขื่อนภาคใต้ รับมือฝน 6-10 ต.ค. พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม