วันนี้ (14 ต.ค.2564) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุ 2 ลูก คือ 1.พายุโซนร้อน "เตี่ยนหมู่" ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมรวม 33 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา นครสวรรค์ ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี รวม 90,507 ครัวเรือน
และ 2.พายุ "ไลออนร็อก" เกิดน้ำท่วมรวม 8 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี และตราด รวม 5,427 ครัวเรือน ต้องเปิดศูนย์พักพิงเพิ่ม 4 แห่งใน จ.จันทบุรี ดูแลผู้ประสบภัยรวม 250 คน ภาพรวมทั้ง 2 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บ 107 คน เสียชีวิต 61 คน
เปิดศูนย์พักพิงรวม 112 แห่ง ผู้รับบริการทั้งหมด 6,096 คน มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 142 แห่ง เปิดบริการได้ปกติ 116 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 17 แห่ง และปิดให้บริการ 9 แห่ง โดยมีการจัดระบบบริการดูแลผู้ป่วยไม่ให้ได้รับผลกระทบแล้ว
ผู้ประสบภัย เป็นโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด
สำหรับการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 347 ทีม ดูแลประชาชนและผู้ประสบภัยรวม 413,094 คน ประกอบด้วย การเยี่ยมบ้าน 103,254 คน แจกยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 81,099 คน ให้สุขศึกษา 84,973 คน และให้บริการตรวจรักษา 81,963 คน
กว่าครึ่งเป็นโรคน้ำกัดเท้า 40,285 คน รองลงมาคือ อาการระบบผิวหนัง แพ้ ผื่นคัน 22,671 คน และระบบกล้ามเนื้อและกระดูก 7,932 คน
ผู้ประสบภัย เครียด-ซึมเศร้า-เสี่ยงฆ่าตัวตาย
ส่วนการประเมินสุขภาพจิต 61,985 คน พบภาวะเครียดระดับมากขึ้นไป 433 คน เสี่ยงภาวะซึมเศร้า 49 คน และภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 5 คน มีการติดตามดูแลโดยทีมสุขภาพจิตแล้ว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จากส่วนกลางไปเพิ่มเติมที่ จ.ตราดอีก 3,000 ชุด รวมสนับสนุนแล้ว 10 จังหวัด 11,900 ชุด
สถานพยาบาล 1,576 เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่านเข้าสู่พายุโซนร้อน "คมปาซุ" ในอ่าวตังเกี๋ย และมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ มีพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง และน้ำท่วมฉับพลันอีก 23 จังหวัด
ได้แก่ ขอนแก่น จันทบุรี ตราด นครราชสีมา นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ศรีสะเกษ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สระบุรี ปทุมธานี บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร กาฬสินธุ์ ระนอง สุรินทร์ พังงา และนครปฐม
มีสถานบริการสาธารณสุขเสี่ยงได้รับผลกระทบ 1,576 แห่ง ขอให้ประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังต่อเนื่อง อาคารสถานที่และครุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ใช้หลักป้องกัน ยกสูง เคลื่อนย้าย สำรองยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ และเตรียมจัดบริการทางการแพทย์ สถานที่สำรอง หรือจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อจำเป็น