ในช่วงที่รัฐบาลประกาศหยุดทำการบิน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. จนถึง ก.ย.ที่ผ่านมา นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ระบุว่า ถือเป็นจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยแล้ว ในช่วงนั้นมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 6 สนามบินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 - 50 คนต่อวัน แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือน ต.ค.ที่รัฐบาลให้สายการบินกลับมาทำการบินได้อีกครั้ง ส่งผลให้มีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 30,000 คนต่อวัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับสายการบินต่างประเทศ ได้คืนการจัดสรรเวลาการบิน หรือ สลอตบินไปประมาณ ร้อยละ 70-80 หากประเมินในส่วนกลาง สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง มีสายการบินต่างประเทศคืนสลอตร้อยละ 70 โดยสนามบินดอนเมือง สายการบินต่างประเทศยกเลิกสลอตการบินไปทั้งหมด 100% ส่วนสายการบินภายในประเทศยกเลิกสลอตร้อยละ 33
นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การคืนสลอตการบินฤดูหนาว ระหว่าง 31 ต.ต.2564 - 26 มี.ค.2565 จำนวนมาก สะท้อนว่า ในช่วง 5 เดือนนี้ สายการบินยังมองสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง
นายปิ่นยศ พิบูลสงคราม ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท ระบุว่า แม้สถานการณ์การบินระยะนี้ปรับตัวดีขึ้น แต่ภาพรวมยังถือว่าธุรกิจสายการบินยังอยู่ในภาวะวิกฤต
สำหรับผลประกอบการปีงบประมาณ 2564 จะขาดทุนเกิน 10,000 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบตลอดทั้งปี โดย 9 เดือนแรก ขาดทุนอยู่ที่ราว 11,000 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปีงบประมาณ 2565-2566 คาดว่า ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง คงไม่ฟื้นตัวมากนัก เช่นเดียวกับ ปีงบประมาณ 2566 อุตสาหกรรมการบินจะยังอยู่ในภาวะซ่อมแซม