รัฐมนตรีคลัง เรียกประชุมคณะกรรมการติดตามภาวะศก. ชี้สหรัฐ-ยุโรปเฝ้าระวังความผันผวน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม โดยมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวด้วย เมื่อวันวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2554 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง
คณะกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจจัดตั้งขึ้นตามดำริของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นกลไกในการประสานการทำงานระหว่างภาคเอกชนและกระทรวงการคลัง มีหน้าที่หลักในการติดตามภาวะเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ภาคเอกชนและกระทรวงการคลังสามารถใช้กลไกนี้ในการแลกเปลี่ยนความเห็น สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย
องค์ประกอบของคณะกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 คน และปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน กรรมการจากภาคเอกชนจำนวน 5 คน ได้แก่ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย นอกจากนี้ยังมีกรรมการ จากภาครัฐอีก 4 คน ได้แก่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งจะทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจด้วย
สาระสำคัญของการประชุมในครั้งแรกนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังมีความเปราะบาง ส่งผลให้เกิดความผันผวนทั้งในตลาดเงิน ตลาดทุน และด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องผลกระทบของค่าเงินบาท ในมิติของการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาในเบื้องต้นถึงแนวทางการดำเนินการที่จะให้ปี 2555 เป็นปีแห่งการลงทุนและปีแห่งการเพิ่มทักษะแรงงาน ทั้งนี้ข้อเสนอจากภาคเอกชนที่หลากหลายและเป็นประโยชน์จะได้นำไปสู่การศึกษาและพัฒนาเป็นมาตรการเงินการคลังที่เหมาะสมต่อไป