วันนี้ (1 พ.ย.2564) คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และตัวแทนเจ้าหนี้ บริษัทการบินไทย แถลงข่าว ความคืบหน้าผลการดำเนินการครั้งแรก หลังศาลฯ เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทย สามารถลดค่าใช้จ่ายองค์กร ได้มากกว่า 44,800 ล้านบาท หลังปรับแก้สัญญาการเช่าและซ่อมบำรุงฝูงบิน การขายที่ดิน อาคาร เครื่องบิน ตลอดจนลดสวัสดิการ และลดจำนวนพนักงานลงมากกว่าครึ่ง
ขณะนี้ยังเหลือภาระการจ่ายเงินชดเชยพนักงานอีก 1 ปี และหนี้ที่ต้องจ่ายเงินคืน ผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้า ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทต้องได้รับเงินสินเชื่อเพิ่มทุนใหม่ วงเงิน 50,000 ล้านบาท แต่รัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดหาเงินกู้ จำนวน 25,000 ล้านบาท เนื่องจากติดขัดประเด็นทางการเมือง และข้อจำกัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
บริษัท จึงเตรียมเจรจาสถาบันการเงิน ระดมเงินภาคกู้เอกชน จำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายหนี้เร่งด่วนดังกล่าว พร้อมยกเหตุผล หากรัฐไม่เพิ่มทุนใหม่เข้ามา อาจเสียโอกาสจากฟื้นตัวของบริษัท หลังพ้นวิกฤต COVID-19 ซึ่งคาดว่า สถานะของบริษัท จะพลิกกลับมาเป็นกำไร ในปี 2566 หากนโยบายเปิดประเทศไม่สะดุด
ทั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทการบินไทย ยังคงเดินหน้าขายหุ้น บริษัทเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS เพิ่มเติมอีก และเตรียมเปิดประมูลสิทธิมาสเตอร์ แฟรนไชนส์ ร้านเบเกอร์รี พัฟแอนด์ พาย เพื่อขยายสาขาให้ได้ 500 สาขา ภายในระยะเวลา 5 ปี ตามโมเดลธุรกิจเดียวกับร้านคาเฟ่ Amazon ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของบริษัท ปตท. แต่สามารถทำรายได้หล่อเลี้ยงองค์กรได้มากกว่าธุรกิจหลัก หวังกระจายความเสี่ยงในอุตสาหกรรมการบินที่มีการแข่งขันรุนแรง