หลังเปิดประเทศครบ 1 สัปดาห์ พบว่าปัญหาสำคัญที่หลายฝ่ายเป็นห่วงและกังวล นอกจากมาตรการดูแลการเดินทางของชาวไทยและชาวต่างชาติผ่านท่าอากาศยาน คือปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขณะนี้ดำเนินการจับกุมได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไจสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานข้อมูลการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมาย ณ วันที่ 6 พ.ย.2564 มีจำนวน 458 คน ส่วนยอดสะสมตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 จำนวน 60,411 คน เมื่อย้อนดูตัวเลขสะสม 7 วัน ในช่วงเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 จำนวน 3,833 คน มากที่สุดวันที่ 2 พ.ย. 1,194 คน
- วันที่ 1 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 552 คน
- วันที่ 2 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 1,194 คน
- วันที่ 3 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 448 คน
- วันที่ 4 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 193 คน
- วันที่ 5 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 594 คน
- วันที่ 6 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 458 คน
- วันที่ 7 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 394 คน
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า กรณีแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเป็นปัจจัยการระบาดในหลายครั้งที่ผ่านมา ที่เห็นชัดเจนคือ ตลาด เมื่อเกิดระบาดขึ้นในตลาดแต่ละแห่ง หากลงไปสอบสวนโรคจะเริ่มต้นที่แรงงานข้ามชาติก่อน ทั้งตลาดในกรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร และ จ.เชียงใหม่
ไทยยังมีความจำเป็นในการใช้แรงงานข้ามชาติ แต่ขอให้เข้ามาถูกกฎหมาย และหากเข้ามาแล้ว ขอให้มีระบบลงทะเบียนติดตามได้ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ในชุมชนไหน ฉีดวัคซีนหรือยัง
ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขอความร่วมมือพื้นที่เข้าไปดูแลการจ้างแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย การขึ้นทะเบียน และการรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 รวมทั้งต้องควบคุมให้ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบาด
ส่วนมาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาทางบกยังจำเป็นต้องกักตัวตามกำหนด กรณีฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว หากตามเกณฑ์เดิม คือ กักตัว 7 วัน ส่วนกรณีเข้ามาแล้วยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีนโยบายชัดเจนว่า ทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยจะฉีดให้หมด