ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หน่วยงานสิ่งแวดล้อมประเมิน "กรุงเทพฯ" เสี่ยงน้ำท่วมปี 2030

ภัยพิบัติ
9 พ.ย. 64
20:02
817
Logo Thai PBS
หน่วยงานสิ่งแวดล้อมประเมิน "กรุงเทพฯ" เสี่ยงน้ำท่วมปี 2030
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรีนพีซเคยคาดการณ์ว่าอีก 9 ปีข้างหน้า 7 เมืองของเอเชียจะเกิดน้ำท่วม จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีด ซึ่งในจำนวนนี้รวมกรุงเทพมหานครด้วย ขณะที่สถาบันทรัพยากรโลกประเมินว่ามีผู้ได้รับกระทบจากน้ำท่วมทั่วโลก 147 ล้านคน

กรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นเพียงจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง เพียงแห่งเดียวของโลกเท่านั้น เมื่อเดือน มิ.ย.2564 กรีนพีซเผยแพร่รายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีด หรือ Extreme Sea-Level Rise ใน 7 เมืองของเอเชีย ภายในปี 2030 หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า

ซึ่ง 7 เมืองในรายฉบับนี้ ประกอบไปด้วยฮ่องกง กรุงไทเป กรุงโซล กรุงโตเกียว กรุงจาการ์ตา กรุงมะนิลา และกรุงเทพมหานคร

 

กรีนพีซ ระบุว่าเมืองชายฝั่งทั่วเอเชีย กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วม จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุโซนร้อน โดยพายุมีความเร็วลมรุนแรงสร้างความเสียหายมากขึ้น คลื่นพายุซัดฝั่งสูงขึ้นและปริมาณน้ำฝนที่มีสภาวะสุดขีดมากกว่าในอดีต

สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้คือ มากกว่าร้อยละ 96 ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงน้ำท่วม หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี หรือ "ten-year flood" ซึ่งหมายถึง เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่กว่าปกติในรอบ 10 ปี

รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงน้ำท่วม

นอกจากนี้ยังประเมินว่า หากเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น สัปปายะสภาสถาน รัฐสภาแห่งใหม่ของไทย จะเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเช่นกัน ซึ่งกรุงเทพฯ จะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 512,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท

ขณะที่ประชากรอีกอย่างน้อย 10 ล้านคน อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2030

ประเมินผลกระทบน้ำท่วมทั่วโลก

ขณะที่รายงานของสถาบันทรัพยากรโลก หรือ World Resources Institute ประเมินว่า ผู้ได้รับกระทบจากน้ำท่วมในหลายประเทศทั่วโลก มีแนวโน้มสูงขึ้น 2 เท่า จาก 72 ล้านคน เมื่อปี 2010 เพิ่มขึ้นเป็น 147 ล้านคนในปี 2030

ผู้ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 221 ล้านคนในปี 2050 ขณะที่ความเสียหายอาจพุ่งสูงถึงปีละ 1,700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 51 ล้านล้านบาท

 

ความรุนแรงของน้ำท่วมมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงสูงและแผ่นดินทรุดตัวจากการใช้น้ำบาดาลมากเกินไป

พื้นที่เสี่ยงส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบังกลาเทศ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย และจีน

การขุดคลอง การสร้างสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ใต้น้ำ เพื่อระบายน้ำออกหากเกิดวิกฤตน้ำท่วม ถือเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

 

ที่มา : Greenpeace ,World Resources Institute ,The Guardian 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง