ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยื่นศาลแพ่ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายสลายชุมนุมหน้ารัฐสภา 3 ล้าน

การเมือง
12 พ.ย. 64
11:28
530
Logo Thai PBS
ยื่นศาลแพ่ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายสลายชุมนุมหน้ารัฐสภา 3 ล้าน
กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมผู้เสียหายจากการชุมนุม 17 พ.ย.63 หน้าอาคารรัฐสภา ยื่นฟ้อง สตช. ผบ.ตร. เรียกค่าเสียหายทางแพ่ง รวมเกือบ 3 ล้านบาท พร้อมขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจสลายการชุมนุม

วันนี้ (12 พ.ย.2564) กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย.2563 จำนวน 9 คน เดินทางมาที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดา เพื่อยื่นฟ้องทางแพ่งกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เรียกร้องค่าเสียหายต่อเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิในชีวิตและร่างกาย ค่ารักษาพยาบาล รวมเกือบ 3 ล้านบาท พร้อมขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวาง และใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและหลักสากล

นางอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางมาฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผบ.ตร. กรณีใช้กำลังสลายการชุมนุม ซึ่งมองว่าเหตุการณ์ขณะนั้นยังไม่มีผู้ชุมนุม และยังมีการสัญจรไปมาตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ทำให้ประชาชนในบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ ถือเป็นการสลายการชุมนุมตั้งแต่ยังไม่ใช่เวลานัดหมายชุมนุม ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้รับบาดเจ็บทั้งภายนอกและภายใน จึงมาขอความเป็นธรรม โดยค่าเสียหายทั้งหมด เฉลี่ยคนประมาณ 300,000 บาท และมีผู้เสียหาย 1 รายที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุด เรียกค่าเสียหาย 400,000 บาท โดยได้นำหลักฐานเป็นภาพถ่ายมาและมีใบรับรองแพทย์แนบมาด้วย


ขณะที่ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมในฐานะตัวแทนการเจรจากับตำรวจ บอกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการประชุมสภา และยังไม่ได้เริ่มมีการชุมนุม แต่ตำรวจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ทั้งการตั้งแนวรั้วกันพื้นที่ การใช้น้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม ซึ่งการกระทำดังกล่าวมองว่าผิดหลักสากลและผิดต่อหลักกฎหมาย อีกทั้งในวันดังกล่าวได้มีการแจ้งหรือเจรจาใด ๆ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความรุนแรง ทำให้มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยและบาดเจ็บสาหัส ค่าเสียหายรวมเกือบ 3,000,000 บาท โดยการฟ้องในวันนี้จะเป็นการเรียกค่าใช้จ่ายการได้รับบาดเจ็บ และค่าเสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิการเดินทาง รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกขัดขว้างการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพราะมองว่าการที่ตำรวจตั้งเครื่องกีดขวางการใช้สิทธิในการชุมนุมนั้นความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว

 

ด้านนายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความภาคีนีกกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การมายื่นฟ้องวันนี้ เพื่อยืนยันว่าการขีดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมจะต้องได้รับการตรวจสอบจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้รับการเยียวยา และเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจ ไม่ให้เกิดการขัดขวางการชุมนุมขึ้นอีก คาดหวังว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับกรณีต่าง ๆ ซึ่งในวันนี้จะขอให้ศาลกำหนดมาตรการว่าต่อไปจะต้องไม่มีการใช้กำลังเข้ามาควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะอีก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยยืนยันว่าการชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย.2563 เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ

สำหรับคดีนี้เคยได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง จึงอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้ตัดสินใจถอนฟ้อง เพราะความคลุมเครือของเขตอำนาจศาล และมายื่นศาลแพ่งแทนในวันนี้ เพราะทางอายุความการจะยื่นฟ้องคดีใหม่ต่อศาลยุติธรรมจะต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่เกิดเหตุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง