ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นพ.ยง ชี้เริ่มต้นฉีดด้วย mRNA หาวัคซีนชนิดอื่นกระตุ้นได้ยาก

สังคม
12 พ.ย. 64
17:59
1,285
Logo Thai PBS
นพ.ยง ชี้เริ่มต้นฉีดด้วย mRNA หาวัคซีนชนิดอื่นกระตุ้นได้ยาก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ระบุ การเริ่มต้นฉีดวัคซีนด้วย mRNA จะหาวัคซีนชนิดอื่นกระตุ้นได้ยาก แนะเริ่มต้นด้วย ไวรัสเวกเตอร์ ยังสามารถใช้ mRNA เป็นตัวกระตุ้นได้ ส่วนวัคซีนเชื้อตายสามารถใช้ได้ทั้งไวรัส Vector และ mRNA กระตุ้น

วันนี้ (12 พ.ย.2564)  ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า ขณะนี้มีคำถามเข้ามามากเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 จะใช้อะไร หรือจะฉีดเมื่อไหร่

หลักการของวิชาในวัคซีน ต้องทำความเข้าใจ

การให้วัคซีนเข็มแรก หรือชุดแรก ถือเป็นการปูพื้น การให้ในเข็มต่อไปถือเป็นการกระตุ้นให้ระดับภูมิต้านทานขึ้นสูง ดังนั้น หากคิดว่าให้แค่ 2 เข็มแรกพอ ก็จะถือเข็มแรกเป็นการปูพื้น เข็มที่ 2 จะถือเป็นการกระตุ้น หากให้ 3 เข็ม โดยชุดแรก 2 เข็ม ให้ใกล้กันเช่นห่างกัน 3-4 สัปดาห์ 2 เข็มแรก หรือชุดแรกถือเป็นการปูพื้นและเข็ม 3 ถือเป็นการกระตุ้น ระยะห่างของการปูพื้น และการกระตุ้น ยิ่งห่างยิ่งดี

อย่างไรก็ตาม หากห่างเกินไปภูมิต้านทานลดลงก่อนกระตุ้น ก็จะเกิดการติดเชื้อแทรกขึ้นมาได้ เช่น หากการให้ 2 เข็ม ที่ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะสู้ 2 เข็มที่ห่างมากกว่า 3-4 สัปดาห์ไม่ได้ ตัวอย่างเห็นได้ชัดในวัคซีนแอสตราเซเนกาสามารถให้ได้ห่าง 4 - 12 สัปดาห์ การให้ห่าง 8 หรือ 16 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะดีกว่าให้ห่างกันที่ 4 สัปดาห์

เช่นเดียวกันกับวัคซีนตัวอื่น ในโรคที่มีความรุนแรง เช่น พิษสุนัขบ้า ทำให้ต้องให้เป็นชุดมีความถี่ (ให้ถึง 5 เข็มโดยเข็มแรก ๆ จะถี่เข็มหลัง ๆ จะห่างขึ้น) เพื่อมั่นใจในเรื่องของภูมิต้านทานในการป้องกันโรค หรือในภาวะที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ระยะห่างของ 2 เข็มแรก ควรจะเข้ามาใกล้กัน

ถ้าเข็มแรกถือว่าเป็นการปูพื้น เข็มที่ 2 ถือเป็นการกระตุ้น โดยหลักการยิ่งห่างยิ่งดี แต่ถ้าห่างเกินไปจะเกิดการติดโรคเสียก่อน การกระตุ้นเข็ม 3 ก็เช่นกัน การให้วัคซีนชุดแรก 2 เข็มถือเป็นการปูพื้น การกระตุ้นเข็ม 3 ถือเป็น boost ระยะห่างก็มีความหมาย

การเลือกชนิดของวัคซีนใน COVID-19

ศ.นพ.ยง ระบุว่า วัคซีนเชื้อตายจะเป็นวัคซีนปูพื้นที่ดี ไม่เหมาะเป็นวัคซีนกระตุ้น เชื้อตายใช้ไวรัสทั้งตัว การปูพื้นเหมือนเป็นการจำลองการติดเชื้อ ขณะนี้ทางตะวันตกก็พัฒนาวัคซีนเชื้อตาย เช่น ฝรั่งเศสที่ใกล้ออกมาแล้ว คือ วัคซีน Valneva ผ่านระยะที่ 3 และกำลังขอขึ้นทะเบียนในยุโรปที่ประเทศในยุโรปให้ความสนใจ


วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA จะเหมาะเป็นวัคซีนกระตุ้น และการกระตุ้นจะต้องเว้นระยะห่างพอสมควร ดังนั้น หากปูพื้นด้วยไวรัส Vector หรือ mRNA ตัวเลือกในการกระตุ้นมีไม่มาก เพราะรู้ดีว่าการให้ไวรัส Vector ถึง 2 ครั้งแล้ว จะมีภูมิต้านทานต่อตัวเวกเตอร์ที่ทำมาจากไวรัสเช่นเดียวกัน (adenovirus) การให้ซ้ำหลายครั้งจะกระตุ้นภูมิต้านทานได้ไม่ดี เข็มกระตุ้นของไวรัสเวกเตอร์ ควรเป็น mRNA

การให้ mRNA หลายครั้ง เราทราบดีว่าการให้เข็ม 2 อาการข้างเคียงจะมากกว่าเข็มแรก โดยเฉพาะการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักเกิดในเข็ม 2 ที่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ไม่มีใครบอกได้ว่าเข็ม 3 จะเกิดเพิ่มอีก แต่โดยหลักการก็ต้องพึงระวัง โดยเฉพาะในเด็ก

ศ.นพ.ยง ย้ำว่า จากข้อสรุปทั้งหมดจะเห็นว่า "การเริ่มต้นด้วย mRNA แล้วจะหาวัคซีนชนิดอื่นกระตุ้นได้ยาก การเริ่มต้นด้วยไวรัสเวกเตอร์ ยังสามารถใช้ mRNA เป็นตัวกระตุ้น การใช้วัคซีนเชื้อตายเริ่มต้นปูพื้น สามารถใช้ได้ทั้งไวรัส Vector กระตุ้น หรือต่อไปจะใช้ mRNA กระตุ้นได้อีก"

ทั้งนี้ COVID-19 ยังคงอยู่กับเราอีกนาน และเชื่อว่ามีความจำเป็นต้องกระตุ้น และเมื่อกระตุ้นเข็ม 3 แล้ว อาจจะยังต้องมีเข็มที่ 4 ที่ 5 ในปีต่อ ๆ ไปโดยระยะเวลาในการใช้กระตุ้นครั้งต่อไปก็คงต้องยาวนานออกไปอีก ทั้งหมดนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งนั้น เพราะโรคนี้เป็นเรื่องใหม่หมด

ขณะนี้ทางศูนย์ไวรัสที่ทำอยู่จึงจำเป็นที่จะต้องหารูปแบบต่างๆที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย จึงทำให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในระยะนี้จะเห็นประกาศการรับอาสาสมัครต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง