ช่วงค่ำวานนี้กลุ่มครูขอสอน ร่วมกับ อะไรอะไรก็ครู ชวนครูที่ลาออกแล้ว ครูที่อยากลาออก และครูที่ไม่อยากลาออกนะแต่ไม่ไหวแล้ว รวมถึงทุกคนที่สนใจแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหางานของครูได้พูดคุยเหตุผลและความรู้สึก แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองจากบริบทต่าง ๆ เพื่อขยับประเด็นไปสู่การเปลี่ยนแปลงผ่านคลับเฮาส์ ซึ่งมีผู้เข้าฟังสะสมกว่า 4,200 คน ทำให้แฮชแท็ก #ทําไมครูไทยอยากลาออก ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ไทย และยังคงเกาะเทรนด์ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ท่ามกลางการทวีตเพื่อส่งเสียงและรับฟังหลากเหตุผล #ทําไมครูไทยอยากลาออก กันแล้วกว่า 60,000 ทวีต
หลากปัญหาที่ครูและอดีตครูถ่ายทอดผ่านพื้นที่โซเชียลนี้ บอกให้ได้รับรู้ถึงภาระงานที่มากล้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานนอกเหนือจากงานสอนนักเรียน ทั้งงานเอกสาร ธุรการ งานพัสดุ ไปจนถึงการสำรวจข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ที่ไม่สอดคล้องกับรายได้และสวัสดิการ โดยเฉพาะกับครูอัตราจ้างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินเดือนน้อยกันบ่อยครั้ง และการประเมินผลสัมฤทธิ์ครูจากผลงานของนักเรียน แทนที่จะประเมินผลจากการเรียนการสอนในห้องเรียน นำไปสู่การตั้งคำถามถึงระบบราชการและการบริหารงานในโรงเรียนจนบางคนทนกับระบบไม่ไหวและต้องโบกมือลาอาชีพนี้ไป
ครูรุ่นใหม่งานเอกสารล้น - ชั่วโมงสอนเพียบ
ครูอัตราจ้างคนหนึ่งบอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ทำอาชีพครูมาแล้วเกือบ 2 ปีตั้งแต่เรียนจบที่โรงเรียนขนาดกลางแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด ทำให้ได้พบปัญหามากมาย ด้วยภาระการสอน 19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ใช่ปัญหาที่ครูสาวจะรับไม่ไหว แต่งานเอกสารที่ครูผู้ใหญ่โยนมาให้ด้วยคำว่า "พี่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น" ก็ได้กลายเป็นอีกแรงกดดันให้คนที่ถูกมองว่าเติบโตมากับเทคโนโลยีต้องรับภาระไปโดยปริยาย
ถูกมอบหมายให้เป็นธุรการของสายชั้น ถ้าโรงเรียนจัดงานอะไร ก็ต้องเดินเอกสารไปให้ทุกคนเซ็นจนไม่ได้นั่งที่โต๊ะตัวเองทั้งวัน แล้วยังได้รับงานดูแลเอกสารโครงการต่าง ๆ และงานทะเบียนรายชื่อเด็กซึ่งทั้งหมดเมื่อพิมพ์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์แล้ว ยังต้องเขียนลงสมุดด้วย
การพิมพ์ข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์แล้วยังต้องเขียนด้วยลายมือลงในสมุดหรือกระดาษเอกสาร กลายเป็นงานซ้ำซ้อนที่บั่นทอนทั้งกำลังกายและกำลังใจคนทำงานจนแทบไม่มีเวลาเตรียมตัวสอน ทั้งยังต้องมาทำงานเอกสารที่โรงเรียนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ทันส่งก่อนปิดปีงบประมาณด้วย
แม้จะยังเป็นครูอัตราจ้าง แต่ครูสาวคนนี้สะท้อนว่า เธอได้เห็นระบบราชการของครูที่บรรจุแล้วผ่านประสบการณ์การทำงานอย่างเต็มตา โดยเฉพาะการแบ่งคาบเรียนที่มักจะให้ครูรุ่นใหม่ได้รับชั่วโมงการสอนมากกว่า การทำงานเอกสารที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ และการดูแลติดตาม สำรวจข้อมูลต่าง ๆ ขณะเดียวกันเมื่อต้องมีการเลื่อนวิทยฐานะกลับมีการพูดคุยกันส่วนตัว โดยขอให้ตัวเองได้เลื่อนขั้นก่อนเพราะ "พี่อยู่มานานแล้ว ให้พี่เถอะ" ทำให้ครูสาวเข้าใจเหตุผลของครูคนอื่นว่า ทำไมครูไทยหลายคนจึงอยากลาออก
"ครูทิว" ชี้ 3 ปัญหาที่ถูกทับถมถึงเหตุผลที่ครูอยากลาออก
สอดคล้องกับความเห็นของ "ธนวรรธน์ สุวรรณปาล" หรือ ครูทิว ตัวแทนกลุ่มครูขอสอน และเป็นผู้เปิดคลับเฮาส์เมื่อคืนนี้ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า จากที่ทุกคนได้เข้ามาพูดคุยกันในคลับเฮาส์พบปัญหาที่หลายคนเผชิญคล้ายคลึงกันอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.งานสนับสนุนการสอน ทั้งงานพัสดุ ธุรการ อาคารสถานที่ ซึ่งงานเหล่านี้รัฐควรจัดสรรงบฯ และเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลและสนับสนุนโรงเรียน เพื่อให้ครูได้ทำงานตามฟังชันก์ของตัวเองนั่นก็คือการเป็น "ครูผู้สอน"
2.การประเมินผลการสอน จำเป็นต้องมีคุณภาพมากกว่านี้ เนื่องจากการประเมินเป็นเรื่องสำคัญทางการศึกษา และควรทำให้การประเมินมีความหมาย ไม่ใช่ทำให้ครูต่างก็พูดกันว่า "ประเมินแบบนี้ ไม่ต้องประเมินก็ได้" แต่ควรสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของทั้งผู้เรียนและผู้สอนอย่างแท้จริง
3.ปัญหาระบบราชการ การแบ่งชนชั้น ศักดินา ระบบอาวุโสในโรงเรียนที่ครูชั้นผู้น้อย หรือครูอายุน้อยไม่สามารถปปฏิเสธได้ ไปจนถึงปัญหาการให้ทำงานส่วนบุคคลแทนครูผู้ใหญ่ ผู้อำนวยการ หรือแม้กระทั่งงานชงกาแฟที่ล้วนแล้วแต่บั่นทอนครูผู้สอนทั้งสิ้น ซึ่งปัญหานี้กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
ผมพูดเรื่องนี้มาตลอด แต่ในวันนี้ฟีดแบ็กที่ได้รับกลับมาทำให้รู้ว่าปัญหามันถูกทับถมอยู่เรื่อย ๆ ผมดีใจที่เห็นครูอีกหลายคนกล้าที่จะออกมาตั้งคำถามและส่งเสียงของตัวเองมากขึ้น แต่อีกด้านผมก็หดหู่ที่ได้รู้ว่าทุกคนต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากระบบเหล่านี้
ครูทิว ยังบอกอีกว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนกลุ่มครูขอสอนได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมความคิดเห็นและรายชื่อสนับสนุน เสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ มีการพิจารณามาตรการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงระบบมาโดยตลอด และหวังว่า การเปิดพื้นที่ส่งเสียง-รับฟัง หลากเหตุผล #ทําไมครูไทยอยากลาออก ที่ได้รับความสนใจข้ามคืน จะเป็นอีกเสียงที่ทำให้ครูผู้สอนรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบและพัฒนาการศึกษาที่ดีร่วมกันต่อไป
ครูต้องรวมตัวกัน ช่วยเหลือกัน สร้างอำนาจการต่อรอง ต้องมี “สหภาพครู” ที่เป็นสหภาพจริง ๆ เป็นองค์กรที่ไม่ใช่ลิ่วล้อผู้บริหาร และอำนาจรัฐ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เขียนแทนมนุษย์ครู ! ฟังชัดๆ 8 ปีครูสาวยอมสละลาออก
"ครูนักสำรวจ" กับความหวังรัฐช่วยหนุน ผปค. - นร.ช่วงเรียนออนไลน์