วันนี้ (20 พ.ย.2564) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 6,595 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 6,142 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 215 คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 220 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 18 คน ผู้ป่วยสะสม 2,028,712 คน (ตั้งแต่ 1 เม.ย.)หายป่วยกลับบ้าน 8,478 คน หายป่วยสะสม 1,921,906 ราย (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) ผู้ป่วยกำลังรักษา 87,885 คนเสียชีวิต 53 คน
สปสช.เยียวยาผลข้างเคียงวัคซีน 621 ล้านบาท
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดมีประชาชนที่ฉีดวัคซีน และเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือจำนวน 9,245 คน ส่วนใหญ่เป็นภาวะไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนเข็มแรก จำนวน 5,995 คนย หรือร้อยละ 64.85 จำนวนนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขอรับการช่วยเหลือ 6,177 คนหรือร้อยละ 66.81 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 1,400 คน หรือร้อยละ 16.21
ส่วนกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 1,569 คนหรือร้อยละ 16.97 ในจำนวนนี้มีผู้ที่อุทธรณ์คำร้องขอรับการช่วยเหลือเพิ่มเติม 545 คน โดยสปสช.จ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 621,896,100 บาท
ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงจ่าย 1 แสนบาท
นพ.เจด็จ กล่าวว่า เมื่อแยกดูข้อมูลแบ่งตามเขตพบว่า เขต 13 กทม. มีการยื่นคำร้องมากที่สุด จำนวน 1,703 คน รองลงมาอีก 3 เขต เป็นเขต 1 เชียงใหม่ 1,146 คน เขต 10 อุบลราชธานี 1,047 คน และเขต 8 อุดรธานี 704 คน ผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือส่วนใหญ่ เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 4,259 คน หรือ 46% ผู้มีสิทธิประกันสังคม 2,564 คน หรือ 27.73% ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ 2,175 คน หรือ 23.53%
ส่วนอาการผู้ที่มีภาวะไม่พึงประสงค์ อาทิ มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่น คัน บวม ปวดเวียนศีรษะ หน้ามืด แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาการชา แขนขาอ่อนแรง ภาวะแพ้รุนแรง และเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง เข้าหลักเกณฑ์ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท จำนวน 4,770 คน ขณะที่ในระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 240,000 บาท จำนวน 118 คน และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 400,000 บาท จำนวน 1,296 คน