เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า โรงพยาบาลในกรุงมาดริดของสเปน ออกแถลงการณ์ว่ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนคนแรกของประเทศ เป็นชายวัย 51 ปีที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ โดยแวะเปลี่ยนเครื่องที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวมีอาการเพียงเล็กน้อยและขณะนี้อยู่ระหว่างกักตัว
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของโปรตุเกส แจ้งว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 13 คน โดยพบว่าหนึ่งในผู้เล่นของสโมสรฟุตบอลเพิ่งเดินทางกลับจากแอฟริกาใต้ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยนักเตะและเจ้าหน้าที่ของสโมสรไม่ได้เดินทางไปที่นั่น ทางการโปรตุเกสกำลังตรวจสอบว่าการติดเชื้อในครั้งนี้ ถือเป็นการระบาดครั้งแรกๆ ที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่ทางตอนใต้ของแอฟริกาหรือไม่
WHO ชี้ทั้งโลกเสี่ยงหากโอมิครอนระบาดใหญ่
การประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ ซึ่งการประเมินในครั้งแรกพบว่าไวรัสแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า หากโควิด-19 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากไวรัสโอมิครอน จะเกิดผลกระทบที่เลวร้ายและทำให้ทั้งโลกตกอยู่ในความเสี่ยง พร้อมชื่นชมแอฟริกาใต้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งในแง่ของการตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์ และรีบแจ้งข้อมูลเพื่อให้ทั้งโลกได้ปรับตัวรับมือกับการระบาด
แม้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้แน่ชัดว่า ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนระบาดได้รวดเร็ว และมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่นหรือไม่ แต่หลายประเทศประกาศห้ามเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้เข้าประเทศแล้ว
ล่าสุด ประเทศ "รวันดา" ออกคำสั่งห้ามเที่ยวบินจาก 9 ประเทศในพื้นที่ทางตอนใต้ของแอฟริกาเข้าประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา ซิมบับเว นามิเบีย เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แซมเบีย และมาลาวี
การที่หลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการในลักษณะนี้ ทำให้มีชาวต่างชาติจำนวนมากติดค้างอยู่ที่สนามบินในแอฟริกาใต้ หลายคนบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นฝันร้าย เพราะพวกเขาไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งหลายคนพยายามหาทางขึ้นเครื่องบินไปประเทศอื่น เพื่อต่อไปยังจุดหมายปลายทาง
สหรัฐฯ ระบุมาตรการห้ามเดินทางคือการปกป้องชาวอเมริกัน
โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ แถลงถึงข้อกำหนดใหม่ที่ห้ามการเดินทางทั้งไปและกลับจากแอฟริกาใต้ และอีก 7 ประเทศในตอนใต้ของแอฟริกา ยกเว้นชาวอเมริกันและผู้พำนักถาวรยังสามารถเดินทางกลับสหรัฐฯ ได้ หากมีผลการตรวจเชื้อเป็นลบ โดยระบุว่าวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้มาตรการห้ามการเดินทางไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการปกป้องชาวอเมริกัน
ขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาต้องการให้เวลาแก่นักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และสหรัฐฯ ต้องการเวลาเพื่อให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ก่อนที่ไวรัสจะระบาดไปทั่วโลก และคาดว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะต้องระบาดเข้ามาในสหรัฐฯ อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พร้อมระบุว่า หากประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและวัคซีน รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการปิดเมือง
อ่านข่าวอื่นๆ
เช็กพิกัด! โควิดโอมิครอนลาม 18 พื้นที่ 4 ทวีป สธ.ยืนยันยังไม่พบในไทย
"ซีริล รามาโฟซา" ประณามคำสั่งห้ามคนจากแอฟริกาใต้เข้าประเทศ
เปิดภาพไวรัสโควิด "โอมิครอน" โปรตีนหนามมากกว่าเดลตา