ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก "นกปากห่าง" จากอพยพสู่นกประจำถิ่น

สิ่งแวดล้อม
28 ธ.ค. 64
13:35
11,509
Logo Thai PBS
รู้จัก "นกปากห่าง" จากอพยพสู่นกประจำถิ่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "นกปากห่าง" นกขนาดใหญ่ บินได้สูงถึง 1 กิโลเมตร จากขวัญใจชาวนาช่วยกำจัดหอยเชอร์รี่ กลายเป็นความทุกข์ชาวสวนถูกยึดที่ดิน กลิ่นมูล-เสียงดังรบกวน หลังประชากรเพิ่มขึ้นหลายแสนตัว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีฉีดน้ำไล่ได้ผล ไม่ต้องตัดต้นไม้
ไทยมีนกปากห่างหลักแสนตัว กระจายตามพื้นที่ที่ทำนาตลอดทั้งปี ทั้งที่ราบลุ่มภาคกลาง กทม. ปริมณฑล ภาคใต้ตอนบน" นกปากห่างเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว กระทบชาวบ้านบางพื้นที่ต้องขายสวนหนี

 

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ หลังจากผลตรวจสอบกรณีเครื่องบิน F-5 ระหว่างฝึกบินที่จ.ลพบุรี โดยศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานว่าชิ้นส่วนจาก F-5 ที่เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอตรวจพบว่าเป็นนกปากห่าง 

นกปากห่าง  ถือเป็นหนึ่งในนกที่มีคุณประโยชน์แก่ชาวนา เพราะกินหอยเชอร์รี่ที่เป็นศัตรูต้นข้าว แต่เมื่อประชากรนกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกลับส่งผลกระทบหลายด้าน

ในอดีตนกปากห่างอพยพจากบังกลาเทศมาทางทิศตะวันตก แต่ไทยเป็นประเทศส่งออกข้าว ทำนาอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี นกจึงปักหลักและกลายเป็นนกประจำถิ่น ปรับเปลี่ยนมาอพยพภายในประเทศตามช่วงฤดูของการทำนาข้าว ยกตัวอย่างฤดูฝนนกจะกระจายไปอยู่ทั่วทุกพื้นที่ แต่ฤดูแล้งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก ว่างเว้นการทำนาปี นกก็จะอพยพมาอยู่ทางภาคกลาง ภาคใต้

 

นายสัตวแพทย์เกษตร อธิบายลักษณะของนกปากห่างจะรวมกลุ่มนอนบนต้นไม้ในช่วงกลางคืน เมื่อถึงตอนเช้าจะบินและเดินในหากินบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง จากนั้นช่วงเวลา 10.00-12.00 น. เมื่อความร้อนจากพื้นดินระเหยขึ้น นกปากห่างจะเริ่มบินเป็นวงกลมโดยใช้ความร้อนจากพื้นดินดันตัวเองขึ้นไป พอสูงได้ระดับหนึ่งนกจะร่อนและเดินทางไปอีกที่หนึ่งด้วยการใช้พลังงานน้อยที่สุด

นกบินสูงได้เป็น 100 เมตร สบาย ๆ อาจจะถึง 1 กิโลเมตรด้วยซ้ำ เป็นหนึ่งในนกที่พบได้ทั่วไป

ติดใจรสชาติ "หอยเชอร์รี่"

ไทยทำนาข้าวแบบส่งออกตลอดทั้งปี บางพื้นที่ 3 ครั้งต่อปี บางพื้นที่ 4 ครั้งต่อปี เมื่อหอยเชอร์รี่ออกลูกออกหลาน นกปากห่างกินอาหารหลักพวกหอยโข่ง หอยเชอร์รี่ ก็เลยต้องอยู่กินไปด้วย ไม่จำเป็นต้องอพยพ เพราะติดใจในรสชาติ"

 

นายสัตวแพทย์เกษตร บอกว่า ในนาข้าวไทยมีหอยเชอร์รี่ปริมาณมาก กลายเป็นแหล่งอาหารให้นกปากห่างแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และปักหลักทำรังวางไข่ในพื้นที่เกษตรกรรม ช่วงหน้าฝนนกจะกระจายอยู่ทั่วไปหมด

แต่ช่วงปลายปีที่ชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว นกปากห่างจะมาอยู่ตามแหล่งน้ำ เช่น ทุ่งลาดกระบัง บึงบอระเพ็ด อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ จะมีนกปากห่างไปรวมตัวกันในช่วงหน้าแล้ง ฤดูหนาว ฤดูร้อน เมื่อย้ายมาอยู่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นกจะปรับตัวไปกินหอยกาบน้ำจืดขนาดเล็ก

แนะ "ฉีดน้ำไล่" แทนตัดต้นไม้ทิ้ง

"การไล่ คือ การควบคุมประชากรให้นกย้ายไปทำรังที่อื่น" หากชาวบ้าน หรือชาวสวนเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นมูล เสียงดังของนกปากห่างที่ไปทำรังวางไข่ หรือเกาะนอนเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ใช้รถฉีดน้ำดับเพลิงไปฉีดไล่นกเรื่อย ๆ ทั้งกลางวัน กลางคืน วิธีนี้อาจเปลืองน้ำ แต่เมื่อนกรำคาญมาก ๆ ก็จะย้ายไปที่อื่น อาจขยับถึง 1-2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลโดยไม่ต้องตัดต้นไม้

ในบางครั้งนกปากห่างยังถูกควบคุมประชากรด้วยอาหาร ยกตัวอย่างเคสที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบนกปากห่างตายจำนวนมาก จนชาวบ้านกลัวโรคไข้หวัดนกระบาด แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ชาวบ้านปล่อยนาร้าง นกปากห่างที่เคยอยู่รวมกัน เมื่อไม่มีอาหารและไม่ได้อพยพ พ่อแม่นกจะต้องบินออกไปหาอาหารเลี้ยงลูก แต่ลูกยังไม่ทันโตก็ขาดอาหารตายตรงนั้น

 

ข้อมูลจากหนังสือสาระความรู้ นกปากห่างในประเทศไทย กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า นกปากห่าง เป็นนกขนาดใหญ่อยู่ในวงศ์นกกระสาและมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน คือ ขายาว คอยาว ปีกกว้าง แต่ลักษณะที่แตกต่างกันอยู่ที่ปากที่ปิดไม่สนิท ขนปลายปีก หาง และตะโพกเป็นสีดำ ส่วนขนปีกสีขาวจะขาวนวลขึ้นเมื่อเข้าฤดูผสมพันธุ์ และสีของขาจะเข้มขึ้นเป็นสีชมพูสด ในฤดูหนาวนกปากห่างจะมีสีสวยงามมากที่สุด โดยแพร่กระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

นกปากห่าง จะทำรังวางไข่เป็นกลุ่มใหญ่ ในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค. วางไข่ประมาณ 1-5 ฟองต่อรัง 

 

ประชากรนกปากห่างกว่า 500,000 ตัว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีรายงานพบนกดังกล่าวทำรังวางไข่ครั้งแรกในไทย ที่วัดไผ่ล้อม จ.ปทุมธานี เมื่อปี 2512 ซึ่งมีบทบาทควบคุมทางชีวภาพ นกปากห่างจะจับกินหอยเชอร์รี่ 123 ตัวต่อวัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมี

แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับนกปากห่าง เพราะประชากรนกเพิ่มขึ้นมาก นกมักทำรังในบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม สวน ไร่ นา ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชุมชน ทำให้ต้นไม้ พืชผลเสียหายจากการหักกิ่งไม้มาทำรัง การเหยียบย้ำยอดไม้จนเหี่ยวเฉาตาย หรือถ่ายทิ้งมูลส่งกลิ่นเหม็น จนเกิดทัศนคติทางลบ ประกอบกับเมื่อมีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ชาวบ้านจึงกังวลว่านกปากห่างอาจเป็นพาหะนำโรค หรือแหล่งรังโรคของเชื้อไข้หวัดนก

นกปากห่าง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผล DNA กระดูก-เลือดในเครื่องบิน F-5 ตกเป็น “นกปากห่าง"

#BirdStrike คืออะไร ทำไมทำเครื่องบินตกได้?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง