ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ เรื่องข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร โดยระบุว่า ตามที่ปรากฎการตายเป็นจำนวนมากของสุกรนพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยมาระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขนาดกลางและขนาดใหญ่
ภาคีฯ ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทยทั้ง 14 สถาบัน มีความกังวลกับสถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับได้รับคำถามเป็นจำนวนมากจากเกษตรกรและประชาชน ถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข
ทั้งนี้ จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศ พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 แล้วนั้น
ภาคีฯ จึงขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย
ไต้หวันตรวจพบ "กุนเชียง" ปนเปื้อน ASF ส่งจากไทย
สอดคล้องกับเว็บไซต์ Focus Taiwan รายงานว่า การลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์แปรรูปจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยผู้ละเมิดกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากต่างประเทศ อาจจะถูกปรับ ระงับใบอนุญาตทำงาน และถูกเนรเทศออกจากไต้หวันในที่สุด มาตรการนี้ครอบคลุมถึงการให้ญาติหรือเพื่อนส่งเนื้อสัตว์จากต่างประเทศไปให้ และการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ที่ไม่รู้ทราบแหล่งผลิตแน่ชัด
ทางการไต้หวันยกระดับมาตรการสกัดกั้นอหิวาต์แอฟริกาในหมู หลังจากตรวจพบผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากต่างประเทศรวมถึงไทย โดยเมื่อเดือน ธ.ค.2564 ทางการไต้หวันพบผลิตภัณฑ์กุนเชียงจากไทยที่ถูกส่งผ่านทางไปรษณีย์ มีเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในหมูปนเปื้อนอยู่
ขณะที่สำนักงานแรงงานไทย ไทเป เตือนแรงงานไทย ไม่ให้นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากต่างประเทศอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อย่างผิดกฎหมาย อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือปรับสูงสุด 3 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่ง จนท.เก็บตัวอย่างในฟาร์ม 4 จังหวัด ตรวจหาเชื้อ
อย่างไรก็ตาม นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า ยังไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าวเสนอขึ้นมารายงานให้ทราบ แต่เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบฟาร์มสุกรใน 4 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เก็บตัวอย่างในฟาร์มตรวจสอบเชื้อ รวมทั้งตรวจปริมาณการผลิตตามมาตรการจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร-เนื้อสุกร
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูลโรค ASF และที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ หลังจากมีข่าวโรคอหิวาต์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้สั่งให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหา นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกันและกำจัดโรคอหิวาต์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไขปริศนา! "หมูแพงข้ามปี" ส่อแววเจอ "โรคระบาดในหมู"
ถึงเวลารัฐบาลจะยอมรับว่ามี "โรคระบาดในหมู" ได้แล้วหรือยัง?