วันนี้ (15 ม.ค.2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ สั่งเร่งบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน จากสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังส่งกระทบภาพกับรวมเศรษฐกิจไทย โดยมอบหมายกระทรวงการคลังเร่งรัดโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ได้กำหนดระยะเวลาการออกมาตรการไว้ประมาณช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.65
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยถึงกระแสข่าวว่า จะให้ประชาชนกลุ่มเก่าที่เคยได้รับสิทธิกดยืนยันสิทธิ และให้ประชาชนกลุ่มใหม่จำนวน 5 ล้านคน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ที่จะมีการเปิดรับในวันที่ 16 ม.ค.นี้ นั้น กระทรวงการคลังได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่เป็นความจริงและขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ
เริ่มใช้จ่าย 21 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ ความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2564 เห็นชอบโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพและกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน ล่าสุด กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าว ให้แก่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดการดำเนินโครงการ เช่น จำนวนสิทธิที่จะเข้าร่วมโครงการ วันแรกที่จะเปิดรับลงทะเบียน ซึ่งเบื้องต้นจะสามารถเปิดลงทะเบียนวันที่ 14 ก.พ.65 และเริ่มใช้จ่ายได้ในวันที่ 21 ก.พ.65
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเงื่อนไขและรายละเอียดว่าจะได้รับวงเงินสิทธิเท่าใดนั้น ต้องให้คณะกรรมการกลั่นกรองเคาะอนุมัติวงเงินก่อน จากนั้นก็จะจัดทำแนวทางแล้วนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จึงสามารถเปิดลงทะเบียนคนละครึ่ง เฟส 4 ให้ประชาชนได้
สำหรับวงเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 มาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 5 แสนล้านบาท ที่ถูกจัดไว้เพื่อใช้ในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 และก่อนหน้านี้ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ยังมียอดใช้จ่ายไม่เต็มจำนวน โดยเหลือวงเงินที่ส่งคืนรัฐอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
คนละครึ่งเฟส 4 นี้ ครอบคลุมกลุ่มคนที่มีแอปเป๋าตังและผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการใหม่ รวมทั้งโครงการอื่นที่ดูแลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษควบคู่ไปพร้อมกัน โดยจะมีส่วนในการลดภาระของประชาชน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ