วันนี้ (17 ม.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศร้านอาหารอีสานร้านหนึ่ง ย่านถนนวิภาวดีรังสิต พบว่าในช่วงเวลาใกล้เที่ยงบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา
นายณัฐพงษ์ นาทองคำ ผู้ค้าอาหารอีสาน กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้าลดลง จากเดิมที่ต้องออกไปซื้อวัตถุดิบมาเติมเพื่อปรุงอาหาร วันละ 2 ครั้ง แต่ทุกวันนี้ต้องลุ้นว่าจะขายหมดหรือไม่
ขณะที่ราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะเนื้อหมูและข้าวเหนียว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในร้าน ในแต่ละวันจะซื้อวัตถุดิบประมาณ 3,000-4,000 บาท และขายได้เฉลี่ยวันละ 5,000-6,000 บาท ลดลงจากเดิมที่เคยขายได้เฉลี่ยวันละ 10,000 บาท
เมื่อก่อนตอนเช้าจะย่างไม่ทัน ตอนเช้าไล่ทุน ตอนเที่ยงเก็บกำไร ทุกวันนี้มาไล่ทุนตอนเที่ยง ถ้าเที่ยงไม่ได้ลูกค้าก็ขาดทุนไป
แม้กระทรวงพาณิชย์สั่งตรวจสต็อกเนื้อหมูและระงับการส่งออก แต่ราคาเนื้อหมูยังปรับขึ้นอีก โดยเฉพาะเนื้อส่วนคอหมู หมูสามชั้น และหมูบด เช่นเดียวกับเนื้อวัวและเนื้อไก่ที่ปรับราคาขึ้นเล็กน้อย
ส่วนผักสดหลายรายการปรับตัวลดลงมาก เช่น ต้นหอม จากกิโลกรัมละ 70-82 บาท เหลือ 30 บาท มะเขือเทศ จากกิโลกรัมละ 65-70 บาท เหลือ 30 บาท
ผู้ค้าผักสดตลาดย่านสะพานใหม่ เปิดเผยว่า ราคามะละกอเคยปรับขึ้นไปถึงถุงละ 200 บาท ต่อขนาด 10 กิโลกรัม แต่ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาทแล้ว
7 ปีไม่เคยเจอขายมะละกอ กิโลกรัมละ 30 แต่ถามว่าขายดีไหม ก็ขายดี แต่ว่าคนกลางแม่ค้าไม่ได้อะไรเยอะ เพราะราคามันแรง ลูกค้าก็ซื้อน้อยลง อย่างยกถุง 10 กิโลฯ เขาก็เหลือแค่ 5 กิโลฯ
นอกจากนี้ราคา "ข้าวเหนียว" ที่เคยอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-6 บาท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-26 บาท ขณะที่ ผศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า ราคาข้าวเหนียวที่ปรับขึ้นขณะนี้กำลังเข้าสู่ภาวะสมดุล ซึ่งรัฐไม่ควรเข้าไปคุมราคา เพราะปริมาณการบริโภคไม่เปลี่ยนแปลง และราคาข้าวเหนียวจะทยอยปรับลดลงตามกลไกการผลิต
อ่านข่าวอื่นๆ
"พาณิชย์" ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาของแพง-ห้ามขึ้นราคาน้ำอัดลม
เทรนด์ใหม่! กินเนื้อจระเข้ ราคา 100-240 บ. หลังหมูแพง ไก่ขึ้นราคา