หลังเกิดอุบัติเหตุตำรวจควบคุมฝูงชนขับรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย เสียชีวิต ขณะข้ามทางม้าลาย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ปัญหานี้เป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง เมื่อมีเหตุถึงเริ่มแก้ปัญหา เวลาผ่านไปเรื่องก็เงียบ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้จาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เรื่องระเบียบวินัยของคน โดยต้องใช้ไม้แข็ง ติดกล้อง CCTV จับปรับจริง หากไม่หยุดตรงทางม้าลาย และสร้างจิตสำนึกให้คนหยุด หากมีคนเริ่มหยุด 10% คนอื่น ๆ ก็จะเริ่มหยุดตาม เพราะการทำความดี ใคร ๆ ก็อยากทำ
เราให้สิทธิ์คนขับรถมากกว่าสิทธิ์คนเดินถนน เห็นได้ชัดเจนจากการสร้างสะพานลอยที่สะท้อนว่าเราเห็นรถสำคัญกว่าคน ปัญหานี้จึงต้องเริ่มที่จิตสำนึก ระเบียบวินัย กฎหมายมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยบังคับใช้อย่างจริงจัง
อีกส่วนคือ การแก้ไขเรื่องกายภาพ ทางม้าลายในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 4,000 แห่ง แต่มีจุดที่ติดสัญญาณไฟให้คนข้ามเพียง 500-600 แห่ง ขณะเดียวกันสีทางม้าลายก็เริ่มเลือน บางจุดทางอาจจะแคบเกินไป ต้องทำให้กว้างกว่านี้ เหมือนที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้คนขับรถเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น
กรุงเทพฯ เป็นเมืองไม่กี่แห่งที่ไฟป้ายโฆษณาสว่างกว่าไฟทางม้าลาย ถ้าเรามองไปถนนวิทยุ ไฟป้ายโฆษณาสว่างเลย แต่ไฟทางม้าลายกระพริบลาง ๆ อยู่
นายชัชชาติ ย้ำว่า การแก้ไขปัญหาทางม้าลายต้องมองภาพรวมและแก้ไขอย่างเป็นระบบ จุดที่หมอกระต่ายถูกชน ไม่นานมานี้ก็มีอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกชนได้รับบาดเจ็บเช่นกัน แม้ว่า กทม.จะตีเส้นชะลอความเร็วบริเวณนี้ แต่จุดอื่นไม่มี อาจทำให้คนคิดว่าไม่มีทางม้าลาย จนนำไปสู่ผลร้ายมากกว่า
เราต้องมีแผนที่ยั่งยืน มันไม่ใช่เมกะโปรเจกต์ แต่มันเป็นเรื่องของเส้นเลือดฝอยที่อยู่หน้าบ้าน มันอาจจะไม่ค่อยเซ็กซี่เหมือนทำโครงการใหญ่คลองช่องนนทรีย์ระดับพันล้าน แต่มันสำคัญเพราะนี่คือชีวิตของคนจริง ๆ
ส่วนเรื่องปัญหาการแก้กฎหมายโดยเฉพาะโทษปรับกรณีไม่จอดให้คนข้ามบนทางม้าลายนั้น นายชัชชาติ ระบุว่า การแก้กฎหมายจำเป็นต้องใช้เวลา และอาจจะทำให้การแก้ปัญหาทางม้าลายล่าช้าออกไปอีก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างจรืงจังให้ได้ก่อน จับปรับ 1,000 บาท ก็ต้องทำจริง
ผมใช้ทางเท้าบ่อย เพราะชอบวิ่ง เวลาข้ามถนนก็เห็นเลยว่ามันไม่ได้ง่าย มันวัดใจ รถจอดให้บางทีถึงกับต้องยกมือไหว้ กลายเป็นว่าสิทธิของคนขับรถมากกว่าคนเดินถนน
ทั้งนี้ หากต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทำควบคู่กันไป 2 ส่วนทั้งระเบียบวินัย และกายภาพ จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะ กทม.มีฐานข้อมูบอยู่แล้ว ทางม้าลายในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 4,000 แห่ง เท่ากับมีเขตละ 80 แห่ง สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ลงไปตรวจสอบและแก้ไข 2 วันก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สุชัชวีร์" แนะติดตั้งปั๊มน้ำเพิ่มส่งน้ำไปอุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำ
"วิโรจน์" สำรวจย่านอโศก-พระราม 9 พบจุดสุ่มเสี่ยงหลายจุด - ชวนแจ้งผ่านแอปฯ
รอง ผบ.ตร.ข้ามทางม้าลายจุด "หมอกระต่าย" รับเป็นจุดอันตราย
เอาจริง! รถ 3 หมื่นคันจอดล้ำทางม้าลายแยกอโศก เตรียมรับใบสั่ง 1 ก.พ.นี้