กลายเป็นประเด็นข่าวอีกครั้งกับการท่องเที่ยว “ถ้ำนาคา” อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.บึงกาฬนับตั้งแต่มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมความสวยงามแปลกตาของหิน รูปทรงขนาดใหญ่ ที่มีรูปร่างเหมือนงูยักษ์ หรือ พญานาค จนเรียกว่าเป็นอันซีนแห่งใหม่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเยียมชม แหล่งธรรมชาติ และเรื่องลึกลับ
ความเชื่อถ้ำนาคา
“ถ้ำนาคา” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการที่พื้นผิวของหินเกิดการกัดกร่อนไปตามปรากฎการณ์ซันแครก (sun crack) ทำให้มีลวดลายคล้ายเกล็ดปลาหรือเกล็ดงู ประกอบกับการโค้งตัวของหินทำให้รูปร่างโดยรวมคล้ายกับการขดตัวของงูใหญ่หรือพญานาค
ตามตำนานความเชื่อเรื่องเจ้าปู่อือลือที่ถูกสาปให้เป็นพญานาคและถูกจองจำ จะพ้นคำสาปและทำให้พื้นที่นั้นได้เป็นที่รู้จักและเจริญรุ่งเรือง ก็ต่อเมื่อครบ 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการครบรอบการก่อตั้งจ.บึงกาฬ 10 ปี ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้มีผู้ได้มาพบเห็นถ้ำแห่งนี้ และเกิดการกระจายข่าวไปตามความเชื่อส่วนบุคคลจนเป็นที่โด่งดัง
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติภูลังกา
ถ้ำนาคา ตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติชั่วคราว (น้ำตกตาดวิมานทิพย์) บ้านตาดวิมานทิพย์ ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมมาก เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันที่มีฝนตกหนัก สามารถขึ้นชมได้ทุกฤดูกาล
ระยะทางจากจุดเริ่มต้นไปถึงถ้ำนาคาประมาณ 1,400 เมตร ทางเดินเป็นทางเดินธรรมชาติ ประกอบด้วย บันไดเป็นช่วง ๆ สลับกับพื้นดิน และมีบางจุดจะต้องดึงเชือกเพื่อช่วยพยุงตัวทั้งตอนขึ้นและลง
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ เจดีย์หลวงปู่เสาร์ เจดีย์หลวงปู่วัง ถ้ำหลวงปู่วัง และหัวนาคาที่ 1 เป็นต้น ใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 4-5 ชั่วโมงเหมาะแก่ผู้ที่มีสภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ตั้งครรภ์ และไม่มีโรคประจำตัว
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติภูลังกา
ปรากฎการณ์ธรณีวิทยาสร้างหินประหลาด
ไขคำตอบหินประหลาดรูปทรงคล้ายเกล็ดพญานาค ซึ่งนายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร ผอ.กองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า พื้นที่บริเวณภูทอก ภูวัว ภูสิงห์ หรือหินสามวาฬ ลักษณะทางธรณีวิทยา เป็นหินทรายอายุ 75-80 ล้านปี เป็นหินที่เกิดในสมัยก่อนประเทศไทยเคยเป็นทะเลทรายโบราณ โดยพื้นที่มีหิน 2 แบบสลับชั้นกันที่ความหนาประมาณ 200 เมตร
ลักษณะโดยทั่วไปของหินในบริเวณนี้ มีชื่อทางวิชาการว่า “หมวดหินภูทอก” ประกอบด้วยหินสลับเรียงเป็นชั้นรวม 2 ชนิด ได้แก่หินทรายเนื้ออาร์โคส กับหินทรายแป้งเนื้อปนปูน เมื่อหินยกตัวขึ้นเป็นภูเขา น้ำฝนจะกัด กร่อนเฉพาะชั้นหินทรายแป้งเนื้อปนปูน เนื่องจากมีเนื้อหินที่ละลายน้ำได้ จึงทำให้พบชั้นเว้าเป็นลักษณะคล้ายถ้ำขนานยาวไปตามภูเขา สลับกับชั้นหินทรายซึ่งเป็นชั้นหินนูนเด่นมา และเป็นลักษณะทั่วไปของภูเขาในบริเวณนี้”
หินเกล็ดพญานาคจุดมีอายุ 1 แสนปี ถ้าหินทรายที่สมานกันแน่น และถ้าตอนนั้นเกิดภูเขาแล้วทำให้ชั้นหินทรายบางขั้นที่สมบูรณ์จะมีการแตกตัวกันได้ ที่เรียกว่า ซันแครก (Suncrack) เกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน
เนื่องจากการมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างในวลากลางวัน และกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดขยายตัว และหดตัวสลับกันไปมา จนแตกเป็นรูปคล้ายหกเหลี่ยม ต่อมามีการผุพัง และการกัดเชาะโดยน้ำและเกิดการลบเหลี่ยมบริเวณนี้เห็นเป็นลักษณะเหมือนหมอนที่วางช้อนกันเป็นชั้นขนานไปกับแนวชั้นหิน
หากมองในทุกมุมจะดูเหมือนผิวน้อยหน่ามากกว่า สำหรับการเกิดของซันแครกน่าจะไม่เกิน 1 แสนปีผ่านมา และเหตุผลที่พบในชั้นหินเป็นบางชั้น เนื่องจาก ซันแครก สามารถเกิดได้เฉพาะชั้นหินทรายที่มีความเฉพาะ จึงมีลักษณะที่แปลก
อ่านข่าวเพิ่ม ทส.สั่งสอบปม “ถ้ำนาคา” นักท่องเที่ยวล้นลงเขาไม่ทัน
ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี
รีวิวเส้นทางเดินขึ้นถ้ำนาคา
ข้อมูลจาก อบต.โพธ์หมากแข้ง ระบุว่า เมื่อไปถึงอุทยานแห่งชาติภูลังกา สามารถเที่ยวตรงไหน มีดังนี้ ประตูเต่า หินหัวเรือ หัวนาคา หัวที่ 3 อยู่ระหว่างทางขึ้น ต่อมาคือน้ำตกตาดวิมานทิพย์ (ปัจจุบันไม่มีน้ำ) จุดต่อไปหัวนาคา หัวที่ 1 ถ้ำหลวงปู่วัง เจดีย์หลวงปู่วังและจุดไฮไลต์คือ ถ้ำนาคา เจดีย์หลวงปู่เสาร์ซึ่งหากเที่ยวครบทุกจุดใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
ทั้งนี่มีข้อแนะนำ แนะนำให้ขึ้นช่วงเช้า เวลา 07.00-12.00 น. ในช่วง 13.00-14.00 น.นักท่องเที่ยวจะได้ขึ้นเพียงถ้ำนาคาเพียงจุดเดียวไม่สามารถไปจุดอื่นได้เนื่องจากถึงเวลาลงจากเขา 16.00 น.
สำหรับ ถ้ำนาคาอยู่ห่างจากตัว อ.เมืองนครพนม 125 กิโลเมตร และตัวอ.เมืองบึงกาฬ 100 กิโลเมตร และระยะทางจากตัว อ.บึงโขงหลง ถึงจุดทางขึ้นถ้ำนาคา ประมาณ 10 กิโลเมตร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทยานฯ สั่งสอบปม VIP แก๊งหอยทากแหกกฎเที่ยว "ถ้ำนาคา"