วันนี้ (7 ก.พ.2565) เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี หลังเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถูกปิด ที่เปิดให้หน่วยงานภายนอก เข้าตรวจสอบ โดยการลงพื้นที่ของกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร วันนี้ ได้เข้าไปดูบ่อทิ้งกากแร่ที่ 1 ซึ่งเลิกใช้งานแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟู และบ่อทิ้งกากแร่ที่ 2 ที่กำลังจะกลับมาใช้งาน เมื่อกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า จะเกิดการรั่วซึมซ้ำหรือไม่
ก่อนหน้านั้น กรรมาธิการ ป.ป.ช.ได้ลงรับฟังความเห็นชาวบ้านทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงประเด็นผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
นพ.พนม ปทุมสูติ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.พิจิตร ชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีการตรวจเลือดและปัสสาวะ 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2557-2564 ทั้งก่อนปิดและหลังปิดเหมือง แต่เป็นการสุ่มตัวอย่างไม่ถึง 1% จากชาวบ้านรอบเหมืองทั้งหมด 5,800 คน จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการตรวจและวินิจฉัยว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดจากเหมืองหรือไม่
เหตุผลดังกล่าวทำให้กรรมาธิการเสนอให้สาธารณสุข จ.พิจิตร ตรวจเลือดชาวบ้านรอบเหมืองซ้ำ แต่ได้รับคำตอบว่าขาดงบประมาณ โดย กมธ.ป.ป.ช. รับจะประสานเพื่อดำเนินการให้
นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษก กมธ.ป.ป.ช. กล่าวว่า กรรมาธิการจะเชิญหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ป.ป.ช.ให้ข้อมูลอีกครั้ง เพราะดูแลคดีการทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร และบุกรุกพื้นที่ป่า พร้อมติดตามการแก้ปัญหา โดยเน้นตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ขณะที่นายสุรชาติ หมุนสมัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะกรรมการทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพิจารณาข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ข้อมูลก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเหมืองเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อน แต่บริษัทพร้อมเข้ารับการตรวจสอบ หากมีกระบวนการตรวจสอบอีกครั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กพร.ชี้แจงปม "อัครา" เตรียมกลับทำ "เหมืองทอง" - ไม่เกี่ยว "คิงส์เกต" ถอนฟ้อง