ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดบ้านกลางป่า "พญาแร้ง" ก่อนส่งตัว 14 ก.พ.นี้

สิ่งแวดล้อม
13 ก.พ. 65
18:11
1,305
Logo Thai PBS
เปิดบ้านกลางป่า "พญาแร้ง" ก่อนส่งตัว 14 ก.พ.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมวิจัย "พญาแร้ง" ซ้อมเสมือนจริงขั้นตอนการปล่อย "ป๊อก-มิ่ง" วันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เปิดกรงขนาดใหญ่กลางป่าห้วยขาแข้ง หวังให้จับคู่ตามธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูประชากรคืนถิ่นอาศัยหลังฝูงสุดท้ายสูญพันธุ์เมื่อ 14 ก.พ.2535

วันนี้ (13 ก.พ.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทีมวิจัยโครงการฟื้นฟูประชากรแร้งในถิ่นอาศัยนำโดยนายสัตวแพทย์ไชยยันต์ เกษรดอกบัว คณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมตัวแทนจากองค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นที่ซ้อมเสมือนจริง เพื่อเตรียมนำพญาแร้งตัวผู้ชื่อ "ป๊อก" และพญาแร้งตัวเมียชื่อ "มิ่งไ เตรียมนำมาปล่อยในกรงเลี้ยงขนาดใหญ่บริเวณซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.)

 

ซ้อมใหญ่ลดความเครียดพญาแร้ง

นายวชิรดล แผลงปัญญา หนึ่งในทีมวิจัย ผู้ดูแลพญาแร้งจาก สวนสัตว์นครราชสีมา กล่าวว่า การซ้อมเสมือนจริงเพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์ และปลอดภัย ลดความเครียดของพญาแร้ง เพราะเมื่อจับพญาแร้งใส่กรงมายังกรงกลางป่า ต้องไม่มีความผิดพลาด และไม่ให้พญาแร้งเกิดความเครียดระหว่างเดินทาง

 

เส้นทางเข้าจุดปล่อยพญาแร้งค่อนข้างลำบาก จึงเลือกเวลาเดินทาง 06.00 น. โดยขั้นตอนจะใช้เวลาน้อยที่สุด เพิ่อลดความเครียด โดยพญาแร้งทั้ง 2 ตัวมีสุขภาพดี เพราะเข้ามาปรับสภาพที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 1 เดือนเพื่อให้คุ้นชินกับตัวเมีย และปรับสภาพสิ่งแวดล้อม


คาดหวังวางไข่กลางป่า 1-2 ปี

ด้านนายสัตวแพทย์ไชยยันต์ กล่าวว่า ถือเป็นความหวังครั้งสำคัญในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งที่สูญพันธุ์จากป่าไทยนาน 30 ปี ตามแผนหลังจากจัดส่งพญาแร้งเข้าวิวาห์แล้ว หวังจะเห็นการจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ภายในระยะเวลา 1-2 ปี

 

ถ้าสำเร็จแม่พญาแร้งวางไข่ฟองแรกได้สำเร็จ ทีมวิจัยจะนำไข่กลับออกมาเพาะในตู้ฟัก เพื่อกระตุ้นให้ออกไข่เพิ่ม และให้แม่มิ่งฟักเองตามธรรมชาติ

เปิดกรงวิวาห์ "ป๊อก-มิ่ง" จัดทีมเฝ้า 24 ชม.


สำหรับการเลือกพื้นที่จุดซับฟ้าผ่า เนื่องจากเป็นถิ่นอาศัยของแร้งในห้วยขาแข้งในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน มีสภาพป่าเต็งรังที่เหมาะสมกับพญาแร้ง

 

กรงที่ออกแบบจะต้องขนาดใหญ่และต้องแข็งแรงมี 20x20x40 ม.เพราะพญาแร้ง เป็นนกขนาดใหญ่ปีกยาว 2 ม. และบินสูงถึง 20 ม. โดยชั้นแรกเป็นตาข่ายแบบอ่อน อีกชั้นเป็นมีต้นไม้ขนาดใหญ่ เพื่อให้แร้งขึ้นบิน มีบ่อน้ำ มีขอนไม้ และสปริงเกอร์พ่นละอองน้ำคลายร้อน พร้อมทำรังเทียมให้พญาแร้งไว้เกาะทำรังวางไข่

 

นอกจากนี้มีการแนวรั้วไฟฟ้ากันช้าง และมีการทำแนวกันไฟ รวมทั้งติดกล้องวงจรปิด ร่วมกับจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัย และติดตามพฤติกรรมตลอด 24 ชม. โดยกรงดังกล่าวออกแบบนาน 8 เดือนใช้งบกว่า 800,000 บาท

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง