ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมอธีระ" ระบุโอมิครอนติดง่าย-หายเร็ว แต่กระทบชีวิตระยะยาว

สังคม
15 ก.พ. 65
10:10
43,910
Logo Thai PBS
"หมอธีระ" ระบุโอมิครอนติดง่าย-หายเร็ว แต่กระทบชีวิตระยะยาว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอธีระ" เผยทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 413 ล้านคน เสียชีวิตเพิ่ม 7,155 คน พร้อมเตือนผลกระทบจากภาวะอาการคงค้างของโรคโควิด-19 หรือลองโควิด อาจส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน

วันนี้ (15 ก.พ.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุว่า ทะลุ 413 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,419,789 คน ตายเพิ่ม 7,155 คน รวมแล้วติดไปรวม 413,717,588 คน เสียชีวิตรวม 5,843,450 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ รัสเซีย เยอรมัน ญี่ปุ่น ตุรกี และบราซิล 

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.7 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.29 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 50.84 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 41.59 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 4 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก

ทุนมนุษย์ที่สูญเสียไปจากโควิด-19

Ourworldindata ได้อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตในช่วงปีที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนมีการระบาด เพื่อชี้ให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด ยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมมากเท่าใด นั่นย่อมสะท้อนการสูญเสียทุนมนุษย์ของประเทศนั้นมาก

หากดูไทยเราจะพบว่า excess death นั้นสูงขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมาคือทั้งระลอกสองและสาม ดังที่เราทราบกันดีว่ามีการติดเชื้อมากและเสียชีวิตมาก โดยเป็นผลจากนโยบายทั้งด้านสาธารณสุข ทั้งมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนที่มีปัญหา รวมถึงมีการเดินทางและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลกันมาก

 

ในระลอกที่ 4 หรือระลอก Omicron นั้น แม้ความรุนแรงของโรคจะลดลงกว่าเดลต้า แต่เรื่องที่จำเป็นต้องตระหนัก คือสามารถแพร่เชื้อติดเชื้อได้ไวกว่าเดิม สิ่งที่ต้องระวังจะไม่ได้อยู่ที่การนอนโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิต แต่จะเป็นเรื่องผลกระทบระยะยาวหลังจากติดเชื้อ ในลักษณะภาวะอาการคงค้าง หรือโรคเรื้อรัง ที่เราเรียกว่า Long COVID ที่จะส่งผลต่อสมรรถนะของร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้าน และสมรรถนะการทำงาน นอกจากนี้ ยังเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และสังคมในระยะยาวด้วย

ดังนั้น การป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ยังเป็นเรื่องสำคัญมากในภาวะที่การระบาดในประเทศยังเป็นไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น

หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

ครึ่งปีหลัง ดูแนวโน้มแล้วน่าจะหายใจหายคอได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงควรประคับประคองกันและกันให้ผ่านช่วงนี้ไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ประมาท มีสติ และใช้ความรู้ที่ถูกต้องในการตัดสินใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา 16 ก.พ.65

อย่าแชร์! ข่าว "สึนามิลูกที่ 3 เข้าไทย" ไม่ใช่ข่าวจริง

คืน "วันมาฆบูชา" "ดวงจันทร์เต็มดวง" เคียงข้าง "ดาวเรกูลัส"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง