"ก้าวไกล" แฉรัฐปกปิด ASF ระบาด ทำหมูแพง-หนุนนายทุนกินรวบ

เศรษฐกิจ
17 ก.พ. 65
15:54
446
Logo Thai PBS
"ก้าวไกล" แฉรัฐปกปิด ASF ระบาด ทำหมูแพง-หนุนนายทุนกินรวบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ปดิพัทธ์ สันติภาดา" ส.ส.ก้าวไกล แฉรัฐบาลเล่นละครตบตาคนทั้งประเทศ ปกปิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาดในไทย ทำหมูราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ เกษตรกรรายเล็กล้มละลายหนี้ท่วมตัว หนุนกลุ่มทุนกินรวบเบ็ดเสร็จ

วันนี้ (17 ก.พ.2565) ในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐบาลชุดนี้มีการทุจริตคอรัปชัน ด้วยการปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จนทำให้เกิดสถานการณ์ "ของแพง ค่าแรงถูก"

หลายคนยังไม่ลืมเหตุการณ์ เนื้อหมูแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ เริ่มต้นจากเดือน ต.ค.2564 หมูเนื้อแดงจากกิโลกรัมละ 125 บาท ขยับทุกเดือน จนถึง ม.ค.2565 เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 190-220 บาท หมูสามชั้น 260-300 บาท สวนทางกับดัชนีราคาเนื้อหมูของโลก


ราคาหมูเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกระทั่งมาถึงวันที่ 11 ม.ค.2565 ราคาเริ่มปรับลดลง ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยยอมรับว่า มีโรคระบาด ASF ในไทย และมีการตรวจสอบเนื้อหมูในห้องเย็นต่าง ๆ ซึ่งหากไม่มีการตรวจสอบและเปิดเผยอาจทำให้ราคาเนื้อหมูทะลุกิโลกรัมละ 300 บาท ซึ่งตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.2565 มีการตรวจพบหมูในห้องเย็นแล้ว 1,366 แห่ง มีหมูเก็บอยู่ 24.66 ล้านกิโลกรัม เป็นอย่างน้อย

เหตุการณ์นี้คือละครตบตาคนทั้งประเทศ เพราะ ครม.รู้มานานแล้วว่ามีโรคระบาด ASF แต่ปกปิดไว้ เปิดโอกาสให้กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่รู้สถานการณ์มาแสวงหาความมั่งคั่ง เหยียบย่ำเกษตรกรรายย่อยที่ต้องล้มละลาย หนี้สินท่วมหัว


นายปดิพัทธ์ ย้ำว่า "ความเสียหายย่อยยับที่เกิดขึ้นในฟาร์มขนาดเล็ก ทุนใหญ่กลับไม่กระทบกระเทือนอะไร มีหมูขายไม่อั้น กำไรมหาศาล ส่งออกทะลุเป้า ตอนนี้ทุกคนต้องวิ่งหาหมูจากทุนใหญ่ เพราะไม่มีหมูรายย่อยขายแล้ว กินรวบกันเบ็ดเสร็จ" 

ทั่วโลกมีความรู้และแนวปฏิบัติในการจัดการโรค ASF ซึ่งมีหลักการ 3 ข้อ คือ Alertness การแจ้งเตือนสถานการณ์การระบาด Cooperation การร่วมมือทั้งภายในและต่างประเทศ และ Transparency คือ ความโปร่งใสในการรายงาน ซึ่งประเทศนี้ไม่มีสักอย่าง ทำตรงข้ามทั้งหมด เพราะมีธงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ประเทศไทยไม่รู้ว่ามีการระบาด

เปิดเอกสาร-ไทม์ไลน์ ASF ระบาด

นายปดิพัทธ์ ระบุอีกว่า มีหลักฐานเป็นเอกสาร ซึ่งเห็นได้ว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่ามีโรค ASF ระบาด คือ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ โดยหนังสือฉบับนี้อ้างอิงถึง 3 คน คือ นายกรัฐมรนตรี รมว.เกษตรฯ และ รมว.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562 แสดงให้เห็นว่ามีการประชุมไปแล้ว "อย่ามาอ้างว่าไม่รู้เรื่อง"


ปี 2562 เริ่มมีการระบาด และมีหมูตายและทำลายหมูเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 ทำให้ ครม.มีการออกค่าชดเชยทำลายหมูในปี 2563 - 2564 รวมเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ทำลายหมูไป 300,000 ตัว ไม่มีสักตัวหรือที่เป็น ASF โดยอ้างว่า เป็นโรคเพิร์ส หรือ PRRS ต้องบอกว่า โรคเพิร์สเป็นโรคประจำถิ่น มีวัคซีนรักษา และก่อนหน้าปี 2562 ไม่เคยมีการทำลายหมูถึง 300,000 ตัวด้วยโรคเพิร์สมาก่อน

เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ตลกห่วย ๆ ที่ใคร ๆ ก็รู้

จบปี 2563 รมว.เกษตรฯ จัดงานฉลอง ไทยเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนปลอดโรค ASF ส่งออกโต 400 เปอร์เซ็นต์ นี่คือการปิดปีที่ตบหน้าคนไทยทั้งประเทศ ส่งผลให้ปี 2564 กลายเป็นหายนะของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนทั้งประเทศ

ปี 2563 รัฐบาลปกปิดข้อมูลจนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางพังเสียหายย่อยยับ และกลางปี 2564 การระบาดขยับมาที่ภาคตะวันออกและตะวันตก เมื่อมีการระบาดมหาศาล ผู้เลี้ยงก็ต้องขายหมูถูก ๆ รีบชำแหละขาย เพื่อไม่ให้ถูกทำลาย ทำให้พ่อค้าคนกลางนั้นกดราคาผู้เลี้ยงสุกรหน้าฟาร์ม ต้องขายตัวละ 300-500 บาท ลูกหมูขายตัวละ 20 บาท ก็ยอมขาย

สุดท้ายภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยทนไม่ไหว แล็บของคณะสัตวแพทย์ทั่วประเทศพบเชื้อ ASF ในสุกร ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.2564 ผมลงพื้นที่ จ.นครปฐม เพื่อขุดซากหมูตายขึ้นมาตรวจ ก็พบหมูติด ASF ตาย


นายปดิพัทธ์ ย้ำว่า "ขุดลงไปใต้ดินไม่ได้เจอซากหมูเหม็นเน่า เจอแต่กรมปศุสัตว์เหม็นเน่า เน่าขนาดที่ 3 ปียังพูดว่าไทยไม่มี ASF แต่มีหมูตายเป็นล้านตัว เกษตรกรพังพินาศ คนเลี้ยงหมูหายไป 200,000 คน" พร้อมตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลที่ปฏิเสธว่าไม่มีการระบาดของ ASF ขณะที่ รมว.พาณิชย์ อา้งว่าไม่รู้ นายกรัฐมนตรีอ้างว่า "ไปหาไอ้โม่งมา" 

ขณะที่ กรมปศุสัตว์กัมพูชาตรวจพบเชื้อ ASF จากเลือดของหมูที่นำเข้าจากไทยในวันที่ 29 ก.ย.2564 และ 8 ต.ค.2564 แต่รัฐบาลยังบอกว่าประเทศไทยไม่มี ASF แบบนี้จะให้คนไทยเข้าใจรัฐบาลว่าอย่างไร เมื่อเกิดปัญหาทุกคนจะลอยตัวเช่นนี้หรือ นายกรัฐมนตรีควรรับผิดชอบหรือไม่ หากปรับ ครม.ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ถ้าเราไม่ทำอะไรกับสถานการณ์นี้ โรคอุบัติใหม่จะเกิดขึ้นทุกปีเป็นวงจรอุบาทว์ ไทยเตรียมเจอไข้หวัดนก H5N6 ทุนใหญ่จะกินรวบ ผูกขาดเนื้อสุกรทั้งหมด เพราะโรคนี้ทำลายฟาร์มเล็ก ฟาร์มย่อยไปหมดแล้ว คุมไปได้จนถึงเขียงหมู กินรวบเบ็ดเสร็จ


ทางออกคุมโรคระบาดปศุสัตว์ระยะยาว

นายปดิพัทธ์ เสนอทางออกให้รัฐบาล แนะนำให้ทุ่มเทงานวิจัย และศึกษาแนวทางวงจรการผลิต ระบบนิเวศทั้งหมดของการปศุสัตว์ การกระจายหมู และผหลิตภัณฑ์หมู เนื่องจากขณะนี้ไทยไม่มีข้อมูลว่า ทั้งประเทศมีหมูเท่าไหร่ วิ่งจากจังหวัดไหนไปไหน เมื่อมีโรคระบาดก็จะรู้ได้ว่าจะปิดวาล์วที่ไหน หรือหยุดส่งหมูที่ไหน เพื่อควบคุมโรค และต้องมีระบบทำลายซากสัตว์ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ


ขณะเดียวกัน ต้องวางแผนฟื้นฟูฟาร์มรายย่อยให้ได้ โดยผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทำฟาร์มไบโอซิเคียวริตี้ เดินทางกับเกษตรกรรายย่อย ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ให้ฟาร์มรายย่อยกลับมาให้ได้ นี่จึงเรียกว่าวาระแห่งชาติ และต้องมีการวางโครงสร้างและโควตาการผลิตของรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก วางรูปแบบให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น สุดท้าย กรมปศุสัตว์เหมือนเป็นแผนกหนึ่งของบริษัทเท่านั้นเอง

เรื่องวัคซีนก็ควรทุ่มเทวิจัย เปิดเผย อย่าปล่อยให้มีการผูกขาด ให้วัคซีนเป็นของที่เกษตรกรจะเข้าถึงได้ หากใช้ไม่ได้ผลก็ต้องกล้ายอมรับว่าไม่ได้ผล 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดเกมซักถามข้อเท็จจริง "ชลน่าน" ชี้วิกฤตประเทศ "แพงจนพังทั้งแผ่นดิน"

จับตา! อภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ นายกฯ พร้อมตอบข้อซักถามฝ่ายค้าน

"ขอให้สู้เต็มที่-สามัคคีกัน" นายกรัฐมนตรี ปลุกใจศึกซักฟอก

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง