ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกรัฐมนตรี ปัดดีล "เหมืองอัครา"ยันไม่ยกสมบัติชาติให้เอกชน

การเมือง
18 ก.พ. 65
14:13
312
Logo Thai PBS
นายกรัฐมนตรี ปัดดีล "เหมืองอัครา"ยันไม่ยกสมบัติชาติให้เอกชน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกรัฐมนตรี แจงยิบปมเหมืองทองอัครา ยืนยันต่อใบอนุญาต เป็นขั้นตอนตามกฎหมายเหมืองแร่ใหม่ ปัดดีลยกสมบัติชาติให้เอกชน ชี้การเจรจายังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาในอนุญาโตตุลาการ วอนระวังอย่าทำประเทศเสียหาย

วันนี้ (18 ก.พ.2565) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีคดีเหมืองทองอัครา ซึ่งน.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.เพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเป็นคนแรก ระบุว่า โครงการเหมืองอัคราเกิดขึ้นตั้งแต่ 2535-2544 รัฐบาลสมัยนั้นเชิญชวนให้มีการทำเหมืองทองใน จ.พิจิตร และปัจุบันยังเป็นบริษัทเดิม

กระทั่งปี 2554 มีการระงับประทานบัตร 1 แปลง ด้วยความไม่ชัดเจนการออกใบอนุญาต และผลกระทบด้านสุขภาพ ตอนนี้ยังอยู่ในศาลปกครอง และผลกระทบสุขภาพ ต่อมารัฐบาลคสช.เข้ามาทำหน้าที่

ข้อเท็จจริงกรณีเหมืองทอง ปัญหาเกิดมาก่อน แต่รัฐบาลได้ใช้เวลาในการทบทวนข้อกฎหมาย และพ.ร.บ.เหมืองแร่ และกรอบการทำเหมืองแร่เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน และรัฐบาลมีความชอบธรรมในกิจการใดที่เห็นว่ามีความจำเป็น

นายกรัฐมนตรี ระบุหลังจากปรับปรุง พ.ร.บ.เหมืองแร่ พ.ศ.2560 และมีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ในปีเดียวกัน มีบริษัทเอกชนที่ขอมาใหม่ และขอต่อใบอนุญาตนับ 100 ราย ซึ่งต้องทำตามขั้นตอน ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาและมีสิทธิได้รับใบอนุญาต

บริษัทอัคราเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้ามา ถึงจะมีผู้ถือหุ้นที่มีคดีความฟ้องร้องกับรัฐบาลไทย แต่ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสิทธิของบริษัทที่จะขอต่อใบอนุญาต

 

"อัครา" ทำตามขั้นตอน-ยันไร้ดีลยกสมบัติชาติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า พบมีประทานบัตร 1 แปลง หมดอายุปี 2555 แต่ได้ขอต่ออายุไว้ปี 2554 แต่ยังถูกระงับการต่ออายุไว้ ส่วนปี 2563 มีอีก 3 แปลง ที่จะหยุดกิจการปลายปี 2559 แต่ก็ได้ขอต่ออายุตามสัมปทานที่เหลือ

แต่อัคราก็ทำตามขั้นตอนตามกรอบเวลาที่เหลืออยู่ และได้รับอนุญาตในปี 2564 ยืนยันไม่ได้ทำเพื่อการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลทั้งสิ้น ไม่ได้มีการตั้งเงื่อนไข เพราะเป็นไปตามกฎหมายใหม่ และกระทรวงอุตสาหกรรม ก็รายงานว่า บริษัทอัคราเหมือนกับเอกชนรายอื่นที่ ทำตามขั้นตอนที่มีอยู่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือการขอประทานบัตร 4 แปลง เป็นแปลงเดิมที่ได้อนุญาตตั้งแต่ 2536 และปี 2543 ตามลำดับ

ถ้าจะถูกตีความว่า การต่อใบอนุญาตเป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติ หรือยกสมบัติชาติให้กับเอกชนตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหานี้ คงมีมาตั้งแต่รัฐบาลยุคนั้น หรือข้อกล่าวหาที่ขัดต่อนโยบายทำเหมืองที่มีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พยายามแก้ปัญหาเพื่อให้ทุกอย่างเดินต่อได้

วอนระวังการวิจารณ์-ปมอยู่ในอนุญาโตตุลาการ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผู้อภิปรายอ้างถึงการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ การสำรวจ 44 แปลง ขอทำความเข้าใจว่า ผู้ได้รับการอนุญาตสำรวจต้องรับเงื่อนไขว่า มีขีดความสามารถในการสำรวจ เพราะการได้รับอนุญาตแล้วไม่สามารถสำรวจได้ จะต้องจ่ายเงินตามที่ร้องขอทำแผนไว้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม

และค่าทำเนียบในการได้รับอนุญาต สำหรับแปลงสำรวจจะเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าไม่ส่งคืนพื้นที่ เป็นไปตามหลักการสากล เมื่อสำรวจเจอก็จะต้องรายงานให้กระทรวงทราบ เพื่อพิจารณาผลประโยชน์เข้ารัฐ

การดำเนินงานของรัฐบาล อิงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลไม่ได้ต้องการทำเหมือง หรือยึดเหมืองมาเป็นของรัฐ เป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพียงแต่ขอให้ปฎิบัติตามระเบียบกฎหมาย เหมืองแร่ตามกฎหมายใหม่

รัฐบาลยินดีเปิดรับนักลงทุนแต่ต้องยอมรับกฎหมาย ไม่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และประชาชน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ไม่ก่อความเสียหายกับสภาพแวดล้อม

เรื่องนี้ยังอยู่ในการพิจารณาอนุญาโตตุลาการ ขอให้การอภิปรายระมัดระวังไม่เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะหลายประเด็นมาจากการอนุมาน และบิดเบือน

การเจรจา มาจากคำแนะนำขออนุญาโตตุลาการ เป็นทางออกที่ดีของกรณีพิพาทนี้ เนื่องจากมีความไม่เข้าใจกันหลายประการการเจรจาจึงต้องใช้เวลา

ตอบปมฟ้องร้องคิงส์เกต

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการฟ้องร้องของคิงส์เกต เป็นเพราะความไม่เข้าใจ และคิดว่า บริษัทลูกในไทยไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะมีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติ

ข้อฟ้องร้องจึงระบุว่า รัฐบาลมีเจตนายึดเหมืองอย่างคืบคลาน โดยไม่ต่อใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เข้าใจผิดว่าไทยจะเข้าไปทำเหมืองเอง ต้องการยึดสิ่งของประกอบธุรกิจให้ตกเป็นของรัฐ

จึงแสดงออกมาในรูปแบบของรายการต่างๆ ที่คิงส์เกตคิดว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลักการสำคัญของรัฐบาลมุ่งหวังผลประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ หน่วยงานต้องทำตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล

ข้อสรุปจึงนำไปสู่การเจรจา การเลื่อนการอ่านคำพิพากษา กระบวนการของฝ่ายไทย เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งสิ้น ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า

ไม่สามารถจะได้รับอนุญาตใดๆ เรื่องการทำเหมืองในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถานโบราณวัตถุ พื้นที่เขตปลอดภัย และความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำ

ส่วนเรื่องการใช้มาตรา 44 ไม่เข้าใจว่า ผู้อภิปรายมีความพยายาม เพื่อชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อผลประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่จะต้องเสียประโยชน์ การเจรจาเป็นไปเพื่อทำความเข้าใจให้ส่งผลดีที่สุด

เหมือนผู้อภิปรายอยากให้ประเทศชาติเสียหาย อยากให้ตนเองเสียหาย อยากให้มีความผิดในการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายปกติตามคำแนะนำของกระทรวง ให้ยุติการทำเหมืองเป็นการชั่วคราว การฟ้องร้องผ่านกลไกทาฟต้า ก็ยังคงทำได้อยู่ดี ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็ควรอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรนำมาผูกเรื่องกับเหมืองทอง

สิ่งที่เราทำคือการแก้ปัญหา มาตรา 44 ที่ออกไป ไปดูในสาระรายละเอียด เขาเขียนไว้ว่า เป็นเรื่องของการต้องไปตรวจสอบ ไปดำเนินการและให้ทุกเหมือง ทุกประเภท

จะเหมืองทองกี่เหมือง ก็ไปทำให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ต้องให้ความเป็นธรรมในเรื่องที่ขอต่อใบอนุญาตแล้วไม่ต่อให้ในช่วงที่ผ่านมา ลากพันกันยาวเป็นมหากาพย์

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลเข้ามา ต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ทุกประการ ให้มันเดินหน้าไปให้ได้ ทั้งนี้เพื่อใคร เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในพื้นที่ ระวังเรื่องสุขภาพให้เขา เขามีรายได้ ประเทศมีรายได้ วันนี้แร่ก็ถลุงในประเทศไทย ไม่ได้ส่งไปต่างประเทศ หลายอย่างแก้ไขไปแล้วตามพ.ร.บ.ใหม่ที่เกิดขึ้น  เพื่อผลประโยชน์ของชาติ

ขอให้เข้าใจว่าการแก้ปัญหามัน ยากเสียยิ่งกว่าการทำอะไรใหม่ๆ แก้เรื่องเดียวที่มันทับซ้อนมาหลายปีมันยากยิ่งกว่าทำเรื่องใหม่ๆ สัก 10 เรื่อง สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือของพวกเราที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันในสภาฯ ไม่ใช่จับจ้องในทุกประเด็นปัญหาเพื่อผลประโยชน์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อไทยจวกแพ้คดีเหมืองทองอัครา "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" รับผิดชอบ?

"ประยุทธ์" ตอบกลางสภา ไม่ลาออก ปมส.ส.เขียน "ใบลาออก" รอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง