ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุริยะ" ย้อนไทม์ไลน์เหมืองทองอัครา จากรัฐบาล "ทักษิณถึงประยุทธ์"

การเมือง
18 ก.พ. 65
13:50
1,506
Logo Thai PBS
"สุริยะ" ย้อนไทม์ไลน์เหมืองทองอัครา จากรัฐบาล "ทักษิณถึงประยุทธ์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.อุตสาหกรรม ตอบ ส.ส.เพื่อไทย ยืนยันทำตามขั้นตอนถูกต้อง ย้อนไทม์ไลน์เหมืองทองอัคราตั้งแต่รัฐบาลทักษิณถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โต้ปมให้สิทธิประโยชน์แลกเจรจาประนีประนอมคดี

จากกรณี "จิราพร สินธุไพร" ส.ส.เพื่อไทย จี้ตอบให้ชัดค่าเสียหายที่ประเทศต้องจ่าย ถามนายกฯ หากแพ้คดีเหมืองทองอัครา ใครรับผิดชอบ "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" ระบุเงื่อนไขรัฐเจรจาคิงส์เกตถอนฟ้อง แลกสมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ บางจุดเป็นพื้นที่ทับซ้อนเขตอุทยานฯ-ป่าสงวน

วันนี้ (18 ก.พ.2565) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ลุกขึ้นชี้แจงว่า ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มขอเจรจาเกี่ยวกับคดีเหมืองทองอัครา แต่คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ให้คำแนะนำให้ไทยเจรจากับบริษัทคิงส์เกต ซึ่งที่ผ่านมามีการเลื่อนการเจรจามาแล้ว 3 ครั้ง เนื่องจาก COVID-19 โดยเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่การเจรจามีความคืบหน้า และมีทิศทางในทางบวก ซึ่งจะมีประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

ประเด็นเลื่อนออกคำชี้ขาดที่ถูกกล่าวหาว่า การเลื่อนแต่ละครั้งจะมีการให้สิทธิประโยชน์เหมืองทองอัคราทุกครั้ง ยืนยันว่า เป็นความเท็จ การเลื่อนออกคำชี้ขาดไม่เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์หรือการอนุญาตใด ๆ

ส่วนกรณีบริษัทคิงส์เกต เปิดเผยข้อมูลได้ แต่ฝ่ายไทยไม่เปิดเผยข้อมูล ขอชี้แจงว่า ตราบใดที่ยังไม่ออกคำชี้ขาด ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการได้ ส่วนข้อมูลที่บริษัทคิงส์เกตนำมาเปิดเผย มาจากข้อมูลการเจรจายุติข้อพิพาทที่ฝ่ายบริษัทอยากจะได้ และเรียกร้อง ไม่ใช่การตกลงจากทั้ง 2 ฝ่าย


สำหรับข้อกล่าวหาว่า ฝ่ายไทยจะแพ้และต้องเสียค่าโง่กว่า 30,000 ล้านบาทนั้น จากข้อมูลงบการเงินของบริษัทอัครา ซึ่งได้ประกอบกิจการเหมืองทองในประเทศตั้งแต่ 2543 จนถึง 2558 หรือ 15 ปี พบว่า มีกำไรปีละ 800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่อ้างมา บริษัทจะต้องประกอบกิจการถึง 38 ปี

หากบริษัทมั่นใจว่าจะคดีแน่ และได้รับเงิน 30,000 ล้านบาท บริษัทจะมาเจรจากับรัฐบาลไทยได้อย่างไร

ไล่ไทม์ไลน์อาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง

ส่วนการอนุญาตต่าง ๆ ทั้งให้สิทธิสำรวจแร่ และให้ขนผงทองคำออกไปขาย เป็นการประนีประนอมเพื่อขอถอนฟ้องคดี โดยกรณีการให้ประทานบัตร 4 แปลงนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2544 เมื่อบริษัทเริ่มเปิดเหมืองและผลิตทองคำเชิงพาณิชย์ ตรงกับสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง


บริษัทได้ทยอยยื่นมาตั้งแต่ 2546-2548 และในปี 2549 คำขออยู่ระหว่างการพิจารณามาตามลำดับ เตรียมเสนอขออนุมัติ แต่เกิดรัฐประหารก่อน จนมาปี 2550 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มี ครม.ให้ชะลอการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เนื่องจกาเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายทองคำที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำนโยบายทองคำให้แล้วเสร็จ

จากนั้นผ่านมาหลายรัฐบาลมีการปรับปรุงนโยบายทองคำอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2557 มีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองว่า ประสบปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง อีกทั้งความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน


พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.จึงส่งเจ้าหน้าที่ส่งไปตรวจสอบ และมีข้อเสนอให้ยุติการทำเหมืองไว้ก่อน โดยพล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่ง คสช.ให้ยุติการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ และการทำเหมืองชั่วคราว และให้ไปปรับปรุงนโยบายทำเหมืองใหม่ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อให้มีมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพในประชาชนที่รัดกุม

1 ส.ค.2560 ครม.มีมติรับทราบนโยบายทองคำ มีผลให้บริษัทอัคราสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ไม่ได้มาเดินเรื่องต่อเพราะกลัวจะกระทบต่อรูปคดีนั้น และตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้บริษัทอัคราตัดสินใจมายื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่ ก่อนจะนำไปสู่การอนุมัติตามขั้นตอน


ทั้งนี้ หากบริษัทอัคราสำรวจแร่และสามารถประกอบการทำเหมืองทองคำได้ รัฐจะได้รับประโยชน์จากค่าภาคหลวงแร่ และค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจากข้อมูลการประกอบการของบริษัทอัครา ในอดีต 2546-2559 รัฐได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีทั้งหมด 5,596 ล้านบาท รวมทั้งมีการจ้างงานในพื้นที่กว่า 2,000 คน

ยันที่เหมืองทองไม่ทับซ้อนเขตอนุรักษ์ฯ

รมว.อุตสาหกรรม ระบุอีกว่า การออกอาชญาบัตร 44 แปลง เนื้อที่ 400,000 ไร่ เป็นการให้สิทธิสำรวจแร่ในพื้นที่ที่กำหนด ส่วนพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ไม่อนุญาตให้สำรวจ และการมีอาชญาบัตรอนุญาตให้สำรวจเท่านั้น ไม่ใช่การอนุญาตครอบครองพื้นที่ เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของรัฐ และเจ้าของพื้นดิน และต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อน หากเจ้าของพื้นที่ไม่ยินยอมให้สำรวจ ก็ไม่สามารถเข้าไปสำรวจได้ และไม่การันตีว่า จะพบแร่ที่มากพอจะทำเหมืองได้

จากสถิติที่ผ่านมา มีการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำบริษัทอัครา 2538-2543 จำนวน 77 แปลง พื้นที่กว่า 7.7 แสนไร่ เป็นพื้นที่มากกว่า 400,000 ไร่ ในปี 2563 เกือบ 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม การอนุญาตอาชญาบัตร 77 แปลงดังกล่าว พบพื้นที่แหล่งแร่เพียง 3,725 ไร่เท่านั้น หรือสัดส่วน 0.48 % จากพื้นที่อนุญาตให้สำรวจ ดังนั้น 44 แปลงก็คาดว่า จะมีพื้นที่แหล่งเหมืองไม่ถึง 2,000 ไร่


นายสุริยะ ยืนยันว่า เป็นการดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบทุกประการ และไม่ใช่การแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่า การที่เหมืองทองอัครานำผงเงินและผงทองคำออกไปขายนั้นเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักการ ไม่ใช่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาแลกกับคดีแต่อย่างใด

"จิราพร" จี้ตอบให้ตรงคำถาม-เปิดข้อมูลให้หมด

ภายหลัง น.ส.จิราพร ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิง โดยระบุว่า นายสุริยะ ตอบคำถามไม่ตรงประเด็น โดยไม่ได้ตอบคำถามว่า ใครได้หรือเสียประโยชน์ และหากมั่นใจว่าจะชนะคดี จะเจรจากับบริษัทคิงส์เกตอย่างไร ส่วนที่บอกว่า การให้ผลประโยชน์ต่าง ๆ ไม่เกี่ยวกับการเจรจา แต่กลับบอกว่าการเจรจาที่เป็นไปในทางบวก แล้วรัฐบาลนำอะไรไปเจรจาขอให้ชี้แจงด้วย

ส่วนที่นายสุริยะ ระบุว่า ค่าเสียหาย 30,000 ล้านบาทเป็นเรื่องเท็จนั้น ขอให้ชี้แจงด้วยว่าข้อมูลจริงคืออะไร บริษัทคิงส์เกต เรียกค่าเสียหายเท่าใด และฟ้องประเด็นอะไรบ้าง อีกประเด็นที่มีการกล่าวว่าจุดศูนย์กลางของคดีเหมืองทองอัคราเริ่มต้นจากสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น เพราะนายสุริยะ ไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมด เพราะเหมืองทองแห่งนี้มีมานานแล้ว และปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการใช้ ม.44 

ต่อมา นายสุริยะ ตอบกลับว่า ไม่ได้แจ้งว่าประเทศไทยจะชนะคดี ส่วนกรณีที่อ้างถึงอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลสมัยนั้นจะมีการอนุญาตให้สำรวจ และให้เปิดเหมืองทองคำ ซึ่งไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเสียหายแต่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน พร้อมย้ำว่า ไม่ได้นำผลประโยชน์ของประเทศชาติไปให้บริษัทต่างด้าว เพราะบริษัทอัคราเป็นบริษัทไทย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรี ปัดดีล "เหมืองอัครา"ยันไม่ยกสมบัติชาติให้เอกชน

เพื่อไทยจวกแพ้คดีเหมืองทองอัครา "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" รับผิดชอบ?

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง