วันนี้(24 ก.พ.2565) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับประชาคมโลก
ทั้งนี้รัฐบาลมีเป้าหมายกระดับประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเยาวชนอย่างมาก
นายวราวุธ กล่าวว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก จะกระทบกับวิถีชีวิตและภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตด้วย ซึ่งไทยยังอยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจา แต่ยังไม่ได้ข้อตกลงที่ลงตัว ซึ่งได้คุยกับทางสภาอุตสาหกรรมว่าจะมีแนวทางร่วมกันอย่างไร แต่ต้องดูว่าผลกระทบกับสิ่งที่จะรักษาจะมีผลได้ผลเสียอย่างไร เรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอนุรักษ์ควบคุู่กับการแก้ปัญหา
คนรุ่นใหม่ จะมารับไม้ต่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ไทยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065
เตรียมเฟ้น 50 เยาวชนเข้าแคมป์พลเมืองลดโลกร้อน
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กิจกรรม ACE Youth Camp 2022 เปิดโอกาสให้เยาวชนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รู้เท่าทันสถานการณ์เชิงพื้นที่ และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ จากการศึกษาดูงาน รวมถึงการจัดกระบวนการกลุ่มในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และพัฒนาศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเยาวชนไม่น้อยกว่า 50 คน
จากนั้นจะคัดเลือกอีกครั้งให้เหลือ 30 คนเข้าร่วมในกิจกรรมค่าย ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เป้าหมายสร้างเยาวชนให้มีส่วนร่วมรณรงค์ เป็นต้นแบบให้สังคมเกิดความตระหนัก แล้วร่วมกันสร้างเมืองคาร์บอนต่ำให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะในอนาคตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
เปิดประสบการณ์จากค่ายสู่ชีวิตจริงลดใช้ทรัพยากร
ด้านนายพุฒิพัฒน์ จิระวัฒนผลิน ตัวแทนเยาวชน ACE Youth Camp 2020 กล่าวว่า ประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรมทำให้กลับมาทำโครงการในโรงเรียน โดยรณรงค์ให้ลด และแยกขยะจากขวดน้ำในโรงเรียน เพื่อลดการทิ้งไมโครพลาสติกในในแหล่งน้ำ เพราะมีนักเรียนถึง 3,000 คน และถ้าคิดแค่คนละ 1 ขวดไม่รวมแก้วน้ำ และพบว่าเป็นขยะนับหมื่นชิ้น จึงเริ่มลดจากการลดใช้หลอดพลาสติก
เดิมเพื่อนๆไม่เห็นภาพ เพราะยังคิดว่าพอเก็บขยะแล้วก็จะเก็บรวมกัน ไม่สามารถแยกขยะขวดพลาสติกได้ แต่จากการทำกิจกรรมทำให้ปรับทัศนคติและดึงเพื่อนๆมาลดขยะจากต้นทาง จากตัวเอง
ส่วนน.ส.รัฐรวี อุสาวัฒนสิน ตัวแทนเยาวชน ACE Youth Camp 2020 กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่นำมาใช้ในชีวิตจริงคือการเลิกใช้กระดาษในทำงานและเลือกใช้กูเกิลดร็อปและกูเกิลไดรท์ รวมทั้งการใช้รถขนส่งสาธารณะ พกกล่องข้าวกล่องอาหารที่ล้างแทนการใช้กล่องโฟม ขยะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อให้เกิดคาร์บอนต่ำมากที่สุด
คนอื่นมองเราอย่างไร คือเขาไม่คิดว่าจะลดคาร์บอนได้จริง แต่เรากลายเป็นต้นแบบที่หลายคนมาทำตามเพราะทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเราเอง
สำหรับโครงการกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม(สส.) ร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียว สวนนงนุชพัทยา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เปิดตัว (Kick off) กิจกรรมเสริมศักยภาพและขับเคลื่อนผู้นำเยาวชน พลเมืองคาร์บอนต่ำ หรือ ACE Youth Camp ประจำปี 2022 อย่างเป็นทางการ เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถเยาวชนไทยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการลดก๊าซเรือนกระจก
วันนี้ (24 ก.พ.65) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุคนรุ่นใหม่จะมารับไม้ต่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น โดยไทยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี2065 #ThaiPBsnews pic.twitter.com/MmOyi5Bv2p
— Thai PBS News (@ThaiPBSNews) February 24, 2022