ทางรถไฟยกระดับที่มีความสูงของโครงสร้างจากระดับพื้นดินถึงระดับสันรางอยู่ที่ 40-50 เมตร บริเวณคลองมวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ถือจุดเป็นไฮไลท์ของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เพราะเป็นทางรถไฟยกระดับที่สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ เพราะบริเวณเมืองมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ
นอกจากนี้ ยังมีไฮไลท์อยู่ที่ อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทางประมาณ 7.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา ผาเสด็จ และหินลับ จ.สระบุรี ขณะนี้มีความคืบหน้าโครงการร้อยละ 90.3 กำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2565
หากรถไฟทางคู่เส้นนี้เสร็จ จะทำให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพ-นครราชสีมา สะดวกมากขึ้น ย่นระยะเวลาการเดินทางได้เป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือการจัดหาขบวนรถ เพื่อตอบโจทย์การเดินทางของประชาชน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยันว่า ได้จัดหาขบวนรถเพิ่มเติมแล้ว โดยจะพยายามจัดหาให้เร็วที่สุด และต้องไม่มีปัญหาว่า มีรางแต่ไม่มีรถ
แต่โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ยังมีปัญหา แม้ภาพรวมการก่อสร้างจะมีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 91.8
สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร มีปัญหาเนื่องจาก การรถไฟฯ ส่งมอบพื้นที่เวนคืนได้เพียงประมาณร้อยละ 7 ค่าเวนคืนเดิมไม่เพียงพอ ทำให้ต้องขอเพิ่มกรอบวงเงินอีกประมาณ 286 ล้านบาท ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้
สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร– ชุมทางถนนจิระ อาจต้องปรับแบบก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสมร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณาในเดือนนี้
เบื้องต้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ได้ก่อนในปี 2566
ขณะที่ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2569 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมของการรถไฟฯ ที่มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการทั้งโครงการในปีนี้