วันนี้ (18 มี.ค.2565) ข่าวร้อนแรงในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นค่าไฟฟ้าแพง หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 อีกหน่วยละ 23.88 สตางค์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มักจะมีประเด็นค่าไฟฟ้าแพงมาให้เห็นในช่วงฤดูร้อนเสมอ เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนใช้พลังงานมากที่สุด และยิ่งในปีนี้มีปัจจัยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลทางโดยตรงต่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก
สำหรับค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ซึ่งมีการคิดคำนวณค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้า หากใช้จ่ายปริมาณมากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ดังนี้ คือ
1) ค่าไฟฟ้าฐาน จะมีการทบทวนทุก 3-5 ปี ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า ระบบจำหน่ายไฟฟ้า และการจำหน่ายไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการกำหนดผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งกำกับดูแลจากภาครัฐ
โดยวิธีการคำนวณ จะแบ่งตามประเภทผู้ใช้งาน ได้แก่ 1.บ้านที่อยู่อาศัย 2.กิจการขนาดเล็ก 3.กิจการขนาดกลาง 4.กิจการขนาดใหญ่ 5.กิจการเฉพาะอย่าง 6.องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร 7.กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และ 8.ไฟฟ้าชั่วคราว
2) ค่าไฟฟ้าผันแปร โดยจะมีการปรับเปลี่ยนทุก 4 เดือน ได้แก่ เดือน ม.ค.-เม.ย., เดือน พ.ค.-ส.ค. และเดือน ก.ย.- ธ.ค.ของทุกปี เพื่อให้สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ
ที่เปลี่ยนแปลงไปที่กำหนดไว้ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งมีค่าเป็นได้ทั้งบวก และลบ และ 3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งจะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 ของค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปร
เปิดเกณฑ์พิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ตามข้อเสนอของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่ 1.ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 อยู่ที่ 68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 3,406 ล้านหน่วย
จากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค.-เม.ย.2565) ซึ่งอยู่ที่ 65,325 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21
2.สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 55.11 และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 19.46 และค่าเชื้อเพลิงลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 8.32
และถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 8.08 พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 2.58 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.01 น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.19 และอื่นๆ อีกร้อยละ 6.25
3.ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า
และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณการในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่น ๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่
4.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1-31 ม.ค.2565) เท่ากับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอ่อนค่าเล็กน้อยจากประมาณการในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 ที่ประมาณการไว้ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร สำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ทางเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 17-27 มี.ค.นี้ ก่อนจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง