กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อ "ปุ้มปุ้ย" พรรณทิพา ภรรยาของ กวินท์ ดูวาล ได้โพสต์รูปภาพข้อความแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นคำในลักษณะต่อว่ากรณีที่ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา ไม่เปิดเผยภาพหน้าตาของลูกชายบนโซเชียลมีเดีย

ขณะเดียวกัน ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา ได้เปิดเผยถึงเหตุผลที่ไม่เปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวและใบหน้าของลูกว่า เป็นเรื่องที่คิดหนัก และทำการบ้านหนักมาก เนื่องจากให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะได้รับจากผู้เลี้ยงดู 70% คิดว่า จะไม่มีใครได้เห็นจนกว่าลูกจะเริ่มมีพัฒนาการด้านตัวตน สามารถบอกความรู้สึกได้ จำเป็นต้องขออนุญาตลูกก่อน

พ่อแม่ยุคใหม่กับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูก
ความคิดเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของเพจ นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง ที่ได้ชื่นชมครอบครัวของปุ้มปุ้ยและกวินท์ ในฐานะของนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานคุ้มครองเด็ก พร้อมยกย่องให้เป็น “ต้นแบบ” ที่น่าชื่นชมของการเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ ที่อยากรณรงค์ให้ทุกคนเข้าใจเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูก”
แม้เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่อาจจะเคยชินกับการมองเด็กเป็น “สมบัติ” ของพ่อแม่ หรืออำนาจของพ่อแม่ที่ “เหนือ” กว่าเด็ก และยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กมากนัก
1.การตัดสินใจนี้อยู่บนฐานของการ “เคารพเด็ก” คือการตระหนักว่า เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถบอกความรู้สึกได้ ว่าอยากมีรูป หน้าตา หรือแบ่งปันห้วงเวลาส่วนตัวกับมนุษย์คนอื่นนอกครอบครัวหรือไม่ และในกรณีที่ยังบอกไม่ได้ การปกป้องและเคารพที่ดีที่สุดคือ การไม่นำเอาชีวิตส่วนตัวลูกมาแบ่งปันกับสาธารณะในขณะที่เขายังบอกความรู้สึก หรืออนุญาตไม่ได้
2.การปฏิบัติเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์และการสื่อสารสำคัญที่พ่อแม่จะให้เด็กเรียนรู้ว่า เขาคือเจ้าของชีวิตตนเอง และเป็นผู้มีสิทธิขาดเหนือเนื้อตัวร่างกายตนเอง ซึ่งถือเป็นการแสดงความเคารพต่อลูก และเป็นการแสดงความรักที่น่าชื่นชม

3.การงดถ่ายรูปลูกลงสื่อสังคมออนไลน์เพื่อแบ่งปันตลอดเวลาหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sharenting (Sharing + parenting) คือการเคารพในหลักการ “สิทธิที่จะถูกลืม” (right to be forgotten) ซึ่งเป็นการตระหนักว่า เมื่อใดก็ตามที่โพสต์รูปลูก ไม่ว่าขณะใดก็ตามในโลกออนไลน์ รูปของลูก ใบหน้าของลูก อากัปกริยาที่ถูกถ่ายไป จะถูกบันทึกในโลกออนไลน์ตลอดกาล และจะถูกแบ่งปันไปอย่างมหาศาลจนไม่มีใครสามารถควบคุมได้ และไม่สามารถรู้วัตถุประสงค์ว่าใครจะเอารูปลูกไปทำอะไร แบบไหนได้เลย
รอ 3 ขวบ ขออนุญาตลูกก่อนโพสต์โซเชียล
เช่นเดียวกับ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ" หรือ "หมอวิน" กุมารแพทย์ เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ ที่ระบุว่า คำว่า "Sharenting" เป็นศัพท์ใหม่แกะกล่องที่เพิ่งได้รับการนิยามจากนิตยสาร The Wall Street Journal เมื่อปี 2013 มาจากคำว่า "Over-sharenting" ที่ได้จากการรวมของคำสองคำนั่นคือ "Over-sharing" (แชร์ไปเรื่อย) และ "Parenting" (การเลี้ยงลูก) ซึ่งหากแปลเป็นไทยก็คือ "แชร์เรื่องการเลี้ยงลูกไปเรื่อย" หรือ เลี้ยงลูกให้โลกรู้
ผศ.นพ.วรวุฒิ ย้ำว่า พ่อแม่ทุกคนย่อมรู้สึกว่าลูกตัวเองน่ารัก และอยากแชร์ให้ผู้คนได้เห็นหรือเก็บไว้เป็นความทรงจำ แต่หากมากเกินไปอาจจะเกิดอันตรายกับลูกได้ เพราะเป็นการเปิดเผยที่อยู่ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะรูปโป๊เปลือยที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายเมื่อลูกโตขึ้น
อีกเรื่องที่ดูลักลั่นมากในปัจจุบัน คือ การเลี้ยงลูกแบบประดิษฐ์ของหลายบ้าน เพราะเหมือนเลี้ยงให้คนทั้งโลกดู โดยพ่อแม่มักพยายามสร้างตัวตนให้กับลูก เพื่อให้คนอื่นเห็นในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเห็น ต้องดูดี ดูน่ารักตลอดเวลา ทั้งที่ความเป็นจริง เด็กคนหนึ่งมีมิติมากกว่านั้นมาก เด็กทุกคนมีทั้งด้านน่ารัก และพฤติกรรมที่ไม่น่ารักตามวัย ตามเวลา
ผศ.นพ.วรวุฒิ แนะนำว่า พ่อแม่ควรโพสต์รูปลูกแต่พองาม เปิดจำกัดเฉพาะคนในครอบครัวและคนสนิทจริง ๆ จะดีที่สุด หรือหากใช้อินสตาแกรมก็รับผู้ติดตามในวงจำกัด เพื่อไม่ให้ข้อมูลของครอบครัวและลูกหลุดไปโดยไม่ตั้งใจ เพื่อประโยชน์ของครอบครัวและลูกเอง

สิ่งที่ควรทำ ก็คือ เคารพสิทธิของลูก และเคารพสิทธิของคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นที่จะเลือกโพสต์หรือไม่โพสต์เรื่องราวของครอบครัวเขา ตัดสินใจดี ๆ ก่อนโพสต์
เราอาจรอสักลูกอายุ 3 ขวบขึ้นไปที่เริ่มรู้เรื่องก็ลองถามลูกได้นะว่า พ่อจะขอโพสต์อะไรนี้ได้ไหม ชอบหรือไม่ชอบ ลูกจะสิทธิ์ที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้