วันนี้ (8 เม.ย.2565) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ประชาชนจะใช้จ่ายลดลงร้อยละ 45 เพราะกังวลเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้า และราคาน้ำมันแพงขึ้น ทำให้ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายและส่วนหนึ่งยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ปัญหาดังกล่าว กระทบต่อบรรยากาศสงกรานต์ปีนี้คงไม่สนุกสนานเหมือนอดีต และน่าจะซบเซาในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 โดยปีนี้มีเงินสะพัด 106,772 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับ ปี 2564 ที่มีเงินสะพัด 112,867 ล้านบาท และลดลงร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ 4,779 บาท
ส่วนการวางแผนทำกิจกรรมท่องเที่ยวสงกรานต์ในปีนี้ ประชาชนส่วนใหญ่จะเล่นอยู่ในพื้นที่จังหวัดของตัวเอง งดการเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดไกลๆ เพราะราคาน้ำมันที่แพง และกังวลโรคโควิด-19
ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังประเมินการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ยังเติบโตในกรอบร้อยละ 2.5 - 4 หรือขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 โดยมองว่าประชาชนอยู่กับโอมิครอนได้ และส่งออกไทยขยายตัวร้อยละ 4 - 5 เพราะปัญหาสงครามค่อยๆ คลี่คลาย
แต่เชื่อว่าไตรมาส 2 จะดีขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการเข้าประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และหากรัฐขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 5 โดยเริ่มในเดือน มิ.ย.2565 จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 45,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สธ.ประเมินหลังสงกรานต์อาจติดเชื้อวันละ 50,000 คน