เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ขอให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศในอัตราเดียวกัน 492 บาท โดยระบุว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั้งของไทยและทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าทุกรายการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนและผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบาก
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าใจความต้องการของกลุ่มแรงงาน เนื่องจากราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นมาก และราคาน้ำมันดีเซลจะถูกลอยตัวในวันที่ 1 พ.ค.นี้ แต่เชื่อว่าจะไม่เห็นการปรับขึ้นค่าแรงได้ทันวันที่ 1 พ.ค. เนื่องจากต้องผ่านการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยต้องได้ข้อสรุปในเดือน มิ.ย. แล้วส่งต่อไปยังคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานส่วนกลาง ซึ่งต้องเร่งพิจารณาให้ทันก่อนหมดวาระของคณะกรรมการในวันที่ 21 ก.ย.นี้
ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนค่าจ้างแรงงาน ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่าจะมีผลในทางปฏิบัติช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 อย่างไรก็ตามมองว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง และฝั่งข้าราชการ อีกทั้งในความเป็นจริงค่าครองชีพแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วประเทศคงเป็นไปได้ยาก และหากปรับขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ก็จะกระทบต่อประชาชนในที่สุด
อ่านข่าวอื่นๆ
เอกชนร้องรัฐชะลอผลกระทบเลิกตรึงดีเซล-สินค้าจ่อขยับราคา
คลังปฏิเสธปรับสูตรจ่ายเงินอุดหนุน 25% "คนละครึ่ง" เฟส 5
ก.พลังงานคาดหลังเลิกตรึง "ดีเซล" ราคาแตะลิตรละ 35-36 บาท