จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถ่ายรูปแอร์โฮสเตสบนเครื่องบินเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก พร้อมระบุข้อความว่า "เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินผมมักจะถ่ายรูปแอร์โอสเตสไปฝากน้อง ๆ ให้เขาน้ำลายไหล"
ล่าสุด วันนี้ (29 เม.ย.2565) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยตั้งคำถามว่า สภามหาวิทยาลัยศิลปากรต้องรับผิดชอบอย่างไร ต่อกรณีอธิการบดี มศก.แสดงพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ
น.ส.รสนา ยังระบุอีกว่า ที่ปรึกษานโยบายของตนที่เคยเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเดียวกันแสดงความละอายใจแทน เห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็น sexual harassment ชัดเจน แต่เจ้าตัวยังไม่เข้าใจ ซ้ำกล่าวปัดความรับผิดชอบ นับเป็นการดูถูกคนในมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ที่สำคัญคือการถ่ายภาพพนักงานบนเครื่องบินขณะปฏิบัติหน้าที่ อาจจะเป็นความผิดทางกฎหมายหรือความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่
ขอตั้งคำถามว่าระบบของมหาวิทยาลัยมีสิ่งที่เรียกว่าประมวลจริยธรรมของเจ้าพนักงาน ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือไม่ และผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรโดยตรงก็คือ สภามหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งบุคคลผู้จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี
กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดี มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบและประเมินอธิการบดี ทั้งการพิจารณาให้ความดีความชอบและลงโทษได้ ถึงขั้นถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งในอดีตเคยมีตัวอย่างที่อดีตอธิการบดีบางท่านถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพียงเพราะทำงานกับคณบดีไม่ได้ โดยที่ไม่ปรากฏความผิดในตำแหน่งหน้าที่ของอธิการบดีแต่อย่างใด
ดิฉันในฐานะผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยศิลปากร...โปรดได้พิจารณาสอบสวนกรณีการล่วงละเมิดทางเพศของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีดังกล่าว ให้กระจ่างชัดแก่สาธารณชนโดยไม่ชักช้า เพราะกรณีอื้อฉาวเช่นนี้จะปล่อยเลยตามเลยไม่ได้โดยเด็ดขาด ด้วยเหตุผลดังนี้
1.ตำแหน่งอธิการบดี เป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดของสถาบันการศึกษา จึงควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี แต่กลับมีพฤติกรรมที่ขาดจริยธรรม
2.พฤติกรรมแบบนี้บ่งบอกถึง การไม่ให้เกียรติผู้หญิง และมีแนวคิดไปปลุกเร้าเพื่อนร่วมงานให้มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ซึ่งความคิดแบบแสวงหาประโยชน์ทางเพศเช่นนี้ หากมีช่องจังหวะไหนเป็นโอกาสแสวงหาประโยชน์ได้ ก็จะกระทำเฉกเช่นบุคคลนี้ ที่ถือโอกาสล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของผู้หญิง เช่น การแอบถ่ายภาพ บางรายก็อาจก้าวล่วงไปถึงการลวนลาม อนาจาร หรือ กระทำชำเราเด็กและผู้หญิงเมื่อมีโอกาส ถือเป็นบุคคลอันตรายที่สถาบันการศึกษาต้องเข้มงวดเอาจริงเอาจังในการเอาผิด
น.ส.รสนา ระบุอีกว่า หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่า กทม. ดิฉันจะกำหนดมาตรา การปฏิบัติภายในองค์กรของ กทม.ทั้งหมด ได้แก่สำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานที่ทำงานทุกประเภท และสถาบันการศึกษาของ กทม. ดังนี้
1.หากมีข้อเท็จจริงปรากฎที่ชัดเจนแบบกรณีเช่นนี้ จะพิจารณาให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หากตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ปรากฏความผิดจริงตามข้อกล่าวหา ก็สมควรให้ออกจากการปฏิบัติหน้าที่
2.จะสนับสนุนให้ ผู้เสียหายดำเนินคดี ลงโทษ ผู้กระทำผิด เพื่อจะได้เป็นบทเรียนต่อ สังคม ที่จะไม่ยอมให้มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้หญิงและเพศสภาพใด ๆ
3.จะให้มีการประชุมคณะกรรมการจริยธรรมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการจริยธรรมประจำหน่วยงาน หัวหน้าหน่วยงานและหัวหน้าส่วนราชการ โดยเฉพาะส่วนราชการด้านการศึกษาของ กทม.มอบนโยบายให้สถาบันการศึกษาและโรงเรียนสังกัด กทม.ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และจะพัฒนาหลักสูตร “ตัวของหนูร่างกายของหนู สิทธิของหนู“ เพื่อให้เด็กปกป้องตัวเองได้จากภัยทางเพศ หากหญิงคนไหนตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ สามารถแจ้งเหตุมาได้ ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ ซึ่งจะมีการจัดตั้งขึ้นใน 50 เขตของ กทม. เพื่อรองรับเรื่องนี้ให้ทุกคนสามารถร้องทุกข์เข้ามาได้
หวังว่ากรณีอธิการบดีศิลปากรตามที่เป็นข่าวจะได้รับการพิจารณาตรวจสอบจริยธรรมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปในอนาคต