ไปเคลื่อนไหวกับกลุ่มพรรคเล็กอย่างต่อเนื่อง สำหรับ นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ด้วยคงลืมไปว่า เขายุบพรรคประชาธรรมไทย เข้ารวมกับ พปชร.ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังคลุกคลีตีโมงกับกลุ่มพรรคเล็ก แถมยังตั้ง “กลุ่ม 16” สำหรับใช้เคลื่อนไหวในทางการเมือง โดยมีผองเพื่อนพรรคเล็กร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม
ล่าสุด คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคเล็ก จับมือกับพรรคเพื่อไทย เตรียมชำแหละ “โครงการวางระบบและท่องส่งน้ำสายหลักในพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี” ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้น โดยมีเป้าสำคัญอยู่ที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่ดูแลกรมธนารักษ์
นายพิเชษฐ์ ถูกนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรค ทำหนังสือเรียกให้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีออกมาเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว
รวมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้ง อันอาจเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค ในส่วนหน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกที่ต้องมีต่อพรรค และอาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกพรรคด้วย
โดยให้นายพิเชษฐ ไปพบและชี้แจงข้อเท็จจริง วันที่ 11 พ.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ณ ที่ทำการพรรค หากไม่ไปจะถือว่าไม่ประสงค์ชี้แจงข้อเท็จจริง คณะกรรมการจะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
เท่ากับทั้งปาก เรื่องให้สัมภาษณ์สื่อ กับการเคลื่อนไหวกินข้าวบ้าง หารือกันบ้างกับพรรคเพื่อไทย กำลังนำความเดือดร้อนไปให้
ยิ่งกรณีจะตรวจสอบความโปร่งใสจากโครงการวางระบบท่อส่งน้ำ มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ที่มีรัฐมนตรีจากพรรค พปชร.แท้ๆ เป็นผู้ดูแล โดยพุ่งเป้าไปที่นายสันติ ปัจจุบัน เป็นเลขาธิการพรรคด้วย ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับพลพรรค พปชร.เป็นเงาตามตัว
ก่อนหน้านี้ นายพิเชษฐ์ได้รับคำยืนยันจากนายยุทธพงศ์ ว่า แม้กรมธนารักษ์จะเลื่อนลงนามในสัญญาโครงการระบบท่อส่งน้ำอีอีซี กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะการประมูล แต่ฝ่ายค้านยืนยันจะอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป โดยให้เหตุผลว่า ความผิดสำเร็จแล้ว
นายพิเชษฐ์ ยอมรับกับสื่อว่า การเคลื่อนไหวของตนต่อเรื่องนี้ ทำให้ พล.อ.ประวิตรโทรศัพท์มาขอร้องให้เบาเครื่องลงมา และให้นำเรื่องนี้ไปพูดคุยกันในพรรคไม่ใช่ไปกระจายวงนอก แต่ตนมีจุดยืนชัดเจน ต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการนี้
และยืนยันว่า หากมีการลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ผู้ชนะประมูล ตนและ ส.ส.กลุ่ม 16 พร้อมจะลงมติไม่ไว้วางใจนายสันติ แต่ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
หากเป็นจริงดังว่า เท่ากับอดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย พร้อมจะแตกหักกับพรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาล แม้อาจต้องถูกขับออกจากพรรค ก็จะกลับไปเป็นสมาชิกพรรคเล็ก
และพร้อมจะเดินหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์จากอีกด้านหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคเล็ก จะอิงอยู่บนผลประโยชน์และการเรียกร้อง ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรแน่นอน สำหรับทางเดินข้างหน้าของกลุ่มพรรคเล็ก ตามกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายลูกแล้ว
จะเป็นจริงตามที่ได้ประกาศจุดยืนแค่ไหน จะมีแรงกดดันบีบให้ถอยจากโครงการนี้หรือไม่ และเจ้าตัวจะตัดสินใจอนาคตตนเอง บนเส้นทางทางการเมืองอย่างไร อีกไม่นาน จะได้คำตอบที่ชัดเจน