ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : ผู้ว่าฯ กทม.ต้องบริหารงบฯ อย่างโปร่งใส

การเมือง
10 พ.ค. 65
14:51
101
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ผู้ว่าฯ กทม.ต้องบริหารงบฯ อย่างโปร่งใส
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

งบประมาณกรุงเทพฯ ปีละประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูงมาก ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับงบประมาณแต่ละกระทรวง ได้รับหลายกระทรวง เช่น งบปี 64 กระทรวงดิจิทัล 8.6 พันล้านบาท สำนักนายกรัฐมนตรี 4 หมื่นล้านบาท กระทรวงพัฒนาสังคมฯ 2.2 หมื่นล้านบาท กระทรวงยุติธรรม 2.7 หมื่นล้านบาท

ยังไม่นับรวมรายได้จากการเช่าที่ดิน อาคาร และรายได้อื่น ๆ อาทิ การให้สัมปทาน

นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการออกใบอนุญาตอนุมัติหลายเรื่องต่าง ๆ รวมถึงรายได้จากข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน

ทำให้งบประมาณในแต่ละปีของกทม. มีมากจนน่าเป็นห่วง ที่สำคัญคือการบริหารจัดการงบประมาณเหล่านี้ ดังที่ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการภาคีต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์ข้อความไว้เมื่อไม่นานมานี้

ดร.มานะ ยกตัวอย่างการใช้งบประมาณ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดคอรัปชันของ กทม. ในช่วงปี พ.ศ.2558-2564 ตั้งแต่เรื่องการจัดซื้อ

ซึ่ง 3 หน่วยงานที่มีการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด คือ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักการโยธา

ส่วนสำนักงานเขตที่จัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด 3 อันดับคือ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตมีนบุรี

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการจัดซื้ออาหารเสริม นม และอาหารเด็กนักเรียน 444 โครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขการลงทุนสร้างตลาดน้ำ 14 แห่งตลอดช่วงสิบปีนี้ ไม่รู้ว่าหมดเงินไปเท่าไหร่ แต่วันนี้เห็นเพียงที่คลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมที่เปิดดำเนินการอยู่

เช่นเดียวกับการปรับปรุงสวนลุมพินี เนื้อที่ 360 ไร่ ใช้งบถึง 1.7 พันล้านบาท โดยงบประมาณครึ่งหนึ่ง ถูกใช้เป็นค่าสิ่งก่อสร้าง เช่น อาคารจอดรถขนาดใหญ่ อีกครึ่งเป็นค่าต้นไม้และสวน

 

ดร.มานะ ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องโกงเงินหลวงในการจัดซื้อจัดจ้างและการให้สิทธิ์สัมปทานแก่เอกชน เช่น เมกะโปรเจ็คท์คดีรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6.6 พันล้านบาท โคงการอุโมงค์ไฟลานคนเมือง 39 ล้านบาท ยังมีกรณีอื้อฉาวอื่น ๆ เช่น สัมปทานรถไฟฟ้า ค่าดูแลสวนสาธารณะ การจัดอีเว้นท์โดยส่วนกลางหรือสำนักงานเขต

“เหนื่อยใจที่เห็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ พูดแต่เรื่องความสุขสบาย อยู่ดีกินดี ถึงวันนี้มีผู้สมัครเพียง 2 คนที่เข้าใจปัญหานี้ และกล้าประกาศนโยบายว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพฯ แล้วจะแก้ปัญหาคอรัปชันของมหานครแห่งนี้อย่างไร” ดร.มานะ โพสต์กึ่งตั้งเป็นคำถามไว้

เลขาธิการ ACT ย้ำว่า จากการศึกษาข้อมูล และจากงานวิจัยต่าง ๆ พบว่า ในพื้นที่ กรุงเทพฯ เกิดคอรัปชันขึ้นจากส่วนต่าง ๆ ทั้งนักการเมือง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขต และจากส่วนกลาง นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งแยกกันในเรื่องของผลประโยชน์ ปัญหาดังกล่าว จะเกิดขึ้นโดยการกระทำของใครก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องที่น่าละอาย ใครที่อาสาจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้เสียที

การโพสต์และการให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ ส่งผลให้ผู้สมัครหลายคน เริ่มเปิดแนวนโยบายที่เป็นรูปธรรม สำหรับการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณ หากได้รับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี สำหรับการแข่งขันในด้านที่สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมและความโปร่งใส

โครงการศูนย์กำจัดขยะที่หนองแขมและอ่อนนุช เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย มิหนำซ้ำร้าย เมื่อโครงการเหล่านี้เข้าไปเป็นหนึ่งในโครงการ ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ กลับพบว่า กทม.ยังตามไปเดินเรื่อง เพื่อขอถอนโครงการนี้ออกมา

ทั้งที่โครงการข้อตกลงเพื่อคุณธรรม เป็นโครงการเพื่อความโปร่งใสในการใช้งบประมาณที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ในประเทศไทยก็พิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่กทม.กลับถอนตัวทั้งที่เป็นโครงการใหญ่ และมีคำถามตามมามากมาย

ทั้งหมดขึ้นกับผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ที่จะสะท้อนจุดยืนและพันธะสัญญาที่ชัดเจน สำหรับขจัดปัญหาคอรัปชั่น และสร้างความโปร่งใส อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุดของผู้บริหารองค์กร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง