กรณีศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำสั่งคดีค่าเสียหายโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทร ปราการ ของศาลปกคลองกลาง ที่ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่งผลให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกระทรวงการคลัง ต้องจ่ายเงินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี จำนวน 9,600 ล้านบาท ซึ่งตามขั้นตอนสามารถอุทธรณ์ภายใน 90 วัน
วันนี้ (17 พ.ค.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาใหม่ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลการต่อสู้คดีใหม่ โดยโฟกัสคดีฉ้อโกง หรือคดีอาญาที่ คพ.ชนะคดี
รวมทั้งผลของคดี ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์สินของกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ในปี 2558 ที่รัฐต้องจ่ายตามความเห็นของอนุญาโตตุลาการ ในงวดที่ 1 จำนวน 3,956 ล้านบาท โดยให้เงินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
งัดหลักฐานใหม่-บกพร่องในการใช้หลักฐานคดีอาญา
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ขณะนี้มีการทำหนังสือ ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนการพิจารณา ที่ผิดระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.2553
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้หยิบยกเนื้อหาข้อเท็จจริง ในการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีฉ้อโกงในปี 2560 ซึ่งจำเลยที่ 2-19 มีความผิดร่วมกันฉ้อโกงให้โจทก์ทำสัญญาในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
ไม่ได้ชี้ว่าเป็นข้อบกพร่องในการพิจารณาของศาลปกครอง แต่เป็นข้อต่อสู้ใหม่ จะมีการรวบรวมเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาใหม่
พบ 6 แปลงเพิกถอนที่ดิน แต่คร่อมคลองสาธารณะ
น.ส.หรรษา พรหมมณี นิติกร กองกฎหมาย คพ.กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และบก.ปทส.กรมธนารักษ์ และคพ.ยังเข้าตรวจสอบพื้นที่โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเพิ่มเติม ช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
และตรวจสอบการครอบครองที่ดินโดยรอบ ยังพบแนวลำคลองสาธารณะ และมีป่าชายเลนขึ้นหนาแน่น แต่มีการออกโฉนดคร่อมลำคลองสาธารณะ
พบว่าที่ดินจำนวน 6 แปลง ที่มีการเพิกถอนไปแล้ว คร่อมคลองสาธารณะ 4 แปลง ส่วนอีก 12 แปลงยังมีกรรมสิทธิ์ครอบครอง ไม่ได้ถูกเพิกถอนพบคลองสาธารณะถึง 10 แปลง
ซึ่งแนวคลองพบมีมติครม. วันที่ 22 ส.ค.2543 การจำแนกเขตที่ดินครอบคลุมพื้นที่โครงการบางส่วน และพบมีป่าชายเลนในที่ดินคลองด่านแล้ว จึงทำให้หนังสือให้กรมที่ดินเพิกถอนแปลงโฉนดที่ดินดังกล่าวเมื่อ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเข้าแจ้งความข้อหาบุกรุกที่ดินอีก 5 โดยมีชาวบ้าน 4 คนและมีนิติบุคคล 1 ราย
จากการเข้าสำรวจบ่อบำบัดคลองด่านพบว่า สะพานโครงการคลองด่าน คร่อมลำคลองสาธารณะ ส่วนอีก 18 แปลงที่ตรวจสอบพบ 14 แปลงออกโฉนดในพื้นที่ป่าสาธารณะและแนวลำคลอง
ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ
นายอรรถพล ระบุว่า การที่ตรวจสอบพบบุกรุกคลองสาธารณะ มีการนำไปออกโฉนดในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จุดนี้จะใช้หลักฐานใหม่ที่จะนำไปต่อสู้ว่า ผู้กระทำผิดได้ถูกศาลตัดสินผิดในสัญญา และการครอบครองที่ดิน ออกเอกสารสิทธิ์ออกโดยมิชอบ จึงต้องยึดคำสั่งของศาลอาญาว่าผู้กระทำผิดจริง และเป็น กระบวนการได้ที่ดินไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรต้องจ่ายเงินค่าโง่ 9.7 พันล้าน ให้กับผู้ที่กระทำความผิดที่ศาลตัดสินแล้ว
หลักฐานใหม่ที่ใช้ต่อสู้เพิ่มเติม คือการยึดครอบครองที่ดินสาธารณะ และนำไปออกโฉนดโดยมิชอบ การออกเอกสารสิทธินอกเขตพื้นที่ และสำนวนคดีความที่เกี่ยวกับการฟอกเงินที่ ปปง.ดำเนินการและคดีอาญาต่างๆที่ดำเนินคดีเพิ่มเติม ซึ่งจะรวบเอกสารและคดีความให้ศาลปกครองสูงสุด
ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ
ไทม์ไลน์ต่อสู้ไม่จ่ายค่าโง่ 9.6 พันล้าน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ตามไทม์ไลน์หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาใหม่ เราได้ใช้กระบวนการต่างๆ ในการต่อสู้เพื่อไม่ให้รัฐเสียเงินก้อนนี้ ได้ยื่นไปทั้งหมดแล้วเหลือแค่มาตรา 75 ซึ่งจะครบในวันที 7 มิ.ย.นี้ แต่จะแล้วเสร็จก่อนแน่นอนภายในเดือนพ.ค.นี้จะเรงสรุป
แต่ประเด็นตอนนี้ ถือว่าศาลรับแล้ว ที่จะขอให้งดการบังคับคดี ซึ่งมีหนังสือส่งกลับมา เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา หมายความว่า คพ.และกระทรวงการคลัง ยังไม่ต้องจ่ายเงินตามคำพิพากษาให้กับเอกชน 9,600 ล้านบาทไว้ก่อน
หนังสือที่ศาลปกครองกลาง ส่งถึงคพ.ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา คือขอให้งดการบังคับคดีไปก่อน จนกว่าจะมีผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัย ชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตอนนี้จึงยังไม่ต้องจ่ายเงิน 9,600 ล้านบาท และมีเวลาในการส่งหลักฐานใหม่ทั้งหมด
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องตั้งทีมกฎหมายใหม่หรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ไม่ต้องตั้งทีมกฎหมายใหม่เพราะที่ผ่านมาคพ.และหลายหน่วยงานทั้ง ป.ป.ง. กระทรวงการคลัง กรมป่าไม้ และทุกหน่วยงานได้มีการดำเนินการมาตลอด
รวมทั้งจะหยิบประเด็นเงินก้อนแรก 3,000 กว่าล้าน ที่จ่ายงวดแรกไป และ ปปง.ก็ตั้งทีมเรื่องคลองด่านมาโดยเฉพาะ ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่สำคัญมาประกอบการเชื่อมโยง เพราะมีการออกโฉนดโดยไม่ชอบมาแต่แรก
ค่อนข้างข้างมั่นใจว่าคำพิพากษาของศาลาอาญา มีผลต่อสำนวนในคดีมาก รวมถึงการจะชี้ให้เห็นว่าผู้กระทำผิดเกี่ยวข้องกับการยึดถือครอบครองมาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ถ้าเพิ่มประเด็นนี้เข้าไปคนที่กระทำผิดก็ไม่สมควรได้รับเงินค่าโง่ก้อนนี้
ด้านนายจุมพฎ ชอบธรรม ผอ.กองกฎหมาย คพ. กล่าวว่า ขณะนี้มีการหยิบประเด็นข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่คพ.ชนะคดีไว้มาเป็นข้อต่อสู้ และคดีป.ป.ง.ที่ให้ยึดทรัพย์สินคดีฟอกเงินต้องตกเป็นของแผ่นดิน มาใช้เป็นข้อต่อสู้ เพราะศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ซึ่งน่าจะเป็นข้อบกพร่องของศาลปกครอง จึงได้นำ 2-3 ประเด็นนี้ยื่นคำร้องต่อศาลที่ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลปกครอง กลับคำสั่ง! คพ.จ่ายค่าโง่คลองด่าน 9.6 พันล้าน
ย้อนคดี ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
จำคุก 20 ปี อดีตอธิบดีคพ.-รองฯ-ผอ.กองฯ คดีเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมาบ่อบำบัดคลองด่าน