กสม.สั่งบริษัทน้ำตาลไทยจ่ายชดเชยกัมพูชา ไล่ชาวบ้านพ้นที่ทำกิน-ปลูกอ้อยกว่าแสนไร่
สืบเนื่องจากกรณีที่หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ตีพิมพ์รายงานข่าว โดยระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย ได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ในจ.เกาะกง และมีความเห็นว่า บริษัทผู้ผลิตน้ำตาลของไทยต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามหลักการลงทุนข้ามพรมแดน (Transboundary Investment) ซึ่งผู้ลงทุนได้รับประโยชน์จากการลงทุน ดังนั้นจึงต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการลงทุน ด้วย
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุไทยพีเอสออนไลน์ ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความเห็นดังกล่าวจริง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสืบเนื่องจากรัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรกับนักธุรกิจไทย เพื่อส่งเสริมการลงทุนในจ.เกาะกง และออดเดีย เมียนเจย ซึ่งทั้งสองโครงการมีที่ดินสัมปทานเพื่อปลูกอ้อย แปลงละแสนกว่าไร่ ต่อมามีการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
น.พ.นิรันดร์กล่าวว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรตรวจสอบเรื่องร้องเรียน และมีหน้าที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เพื่อนำหลักฐานให้ผู้เสียหายฟ้องร้องต่อศาลให้ออกคำสั่งให้ผู้ละเมิดสิทธิชดเชยเยียวยาแก่ผู้เสียหาย ซึ่งจากกรณีการสร้างโรงงานน้ำตาลทรายที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่า เอกชนไทยละเมิดชาวบ้านในพื้นที่จริง ชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน ต้องการที่ดินทำกินคืน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจา ส่วนการลงทุนของเอกชนไทยอีกแห่ง ที่เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาและแปลงปลูกอ้อยที่จ.ออดเดีย เมียนเจย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 เอกชนไทยเข้าพบกสม. และยืนยันว่า จะยุติโครงการโดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอกชนเข้าศึกษาพื้นที่เพื่อหาวิธีการเยียวยาและชดเชยให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
กรณีปัญหาที่เอกชนไทยถูกร้องเรียนว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ ได้ตีพิมพ์รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า เอกชนไทยรายหนึ่งคือบริษัทน้ำตาลมิตรผล ได้รับสัมปทานลงทุนจากรัฐบาลกัมพูชา ลงทุนในจ.ออดเดีย และบริษัทน้ำตาลขอนแก่นได้รับสัมปทานลงทุนในจ.เกาะกง
นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การเข้าตรวจสอบการทำธุรกิจข้ามพรมแดนนี้ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญที่ระบุให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สามารถตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงกฎบัตรอาเซียนและปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่ประเทศไทยลงนาม โดยมีคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ด้วย
นพ.นิรันดร์กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเรื่องการลงทุนข้ามชาติในอาเซียน ที่มีปัญหาการร้องเรียนเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายโครงการ เช่นกรณีชาวเมียนมาร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของ ไทย เรื่องเอกชนไทยเข้าไปทำสัมปทานเหมืองแร่ที่ทวาย มีกรณีการไล่ที่ทำกินของชาวบ้าน ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ ขณะเดียวกันก็มีกรณีการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่ประเทศลาว ของบริษัทเอกชนประเทศมาเลเซีย ขณะนี้ก็มีเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาเลเซีย ให้ตรวจสอบเอกชนมาเลเซีย เพราะเกรงว่าหากสร้างเขื่อนแล้วจะกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของมาเลเซียรับเรื่องร้องเรียนแล้ว และเตรียมเชิญเอกชนมาเลเซียให้เข้าชี้แจง