ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบ "ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์" กล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ค. 65
11:52
538
Logo Thai PBS
พบ "ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์" กล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมสำรวจสำนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติฯ สำรวจพบ "ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์" กล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก พบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin เมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (19 พ.ค.2565) เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยข่าวดี การค้นพบกล้วยไม้ดินสกุลใหม่ของโลก ชื่อ "ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์"  Nervilia hemratii S.W.Gale, Tetsana & Suddee sp. nov. วงศ์ Orchidaceae กล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก ใน section Linervia จากภาคตะวันตกของประเทศไทย ตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Kew Bulletin: DOI 10. 1007/S12225-022-10024-5 เมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับ ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์ กล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลกสูงประมาณ 12 ซม. หัวใต้ดินทรงกลม สีขาวแกมน้ำตาล ใบสีเขียวเป็นมัน เส้นใบสีม่วงเข้ม ใบรูปห้าเหลี่ยม ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ ช่อดอกตั้งตรง ยาวประมาณ 10 ซม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเขียว มีแต้มสีน้ำตาลแกมม่วง กลีบปากรูปไข่กลับ กลางกลีบมีแถบสีเหลือง ล้อมด้วยแต้มสีม่วง ซึ่งกล้วยไม้ชนิดใหม่นี้ลักษณะใบจะคล้าย Nervilia infundibulifolia Blatt & McCann ซึ่งมีการกระจายพันธุ์กว้างขวางกว่า

 

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

พบในป่าอุทยานฯ "เอราวัณ" กาญจนบุรี 

ทั้งนี้ ทีมสำรวจจากโครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนประเทศไทย ได้สำรวจพรรณไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และพบตัวอย่างกล้วยไม้ที่มีเฉพาะใบ จึงนำมาปลูกในเรือนเพาะชำ พอถึงฤดูออกดอกก็พบว่าเป็นชนิดที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ จึงส่งให้ผู้เชี่ยวชาญในกล้วยไม้สกุล Nervilia นี้ ช่วยตรวจสอบ พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก

ทั้งนี้ทั้งชื่อไทยและคำระบุชนิด ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้ นายจันดี เห็มรัตน์ เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ (หอพรรณไม้) ผู้ปฏิบัติงานจัดการตัวอย่างพรรณไม้ และช่วยงานภาคสนามมาอย่างเข้มแข็งตั้งแต่ยุค ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ มีความเชี่ยวชาญในการสังเกต จำแนกพรรณไม้กลุ่มต่าง ๆ ในภาคสนามเป็นอย่างดี

ผู้ดำเนินโครงการฯ ขอบพสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ให้งบมาดำเนินโครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนประเทศไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่อำนวยความสะดวกในงานภาคสนามเป็นอย่างดี และทีมงานสำรวจพรรณไม้เขาหินปูนที่ร่วมมือกันอย่างแข็งขันจนพบพืชชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

 

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

ภาพ:หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง