ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สินมั่นคง" ยันไม่ปิดกิจการ-ศาลนัดไต่สวนฟื้นฟูกิจการ 15 ส.ค.

เศรษฐกิจ
19 พ.ค. 65
12:49
1,856
Logo Thai PBS
"สินมั่นคง" ยันไม่ปิดกิจการ-ศาลนัดไต่สวนฟื้นฟูกิจการ 15 ส.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"สินมั่งคง" ออกแถลงการณ์ยังไม่ปิดกิจการ ยันเดินหน้าธุรกิจต่อ ไม่ทิ้งความรับผิดชอบด้วยวิธีปิดกิจการ ย้ำการยื่นฟื้นฟูกิจการคือทางออกที่ดีที่สุด ชี้ยังมีค่าสินไหมโควิดค้าง 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหม 30,000 ล้านบาท ขณะที่ศาลนัดไต่สวนคำร้อง 15 ส.ค.นี้

กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2565  ศาลล้มละลายฯ ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยศาลกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 15 ส.ค.นี้ 

ล่าสุด บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์กรณีที่ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยมีใจความสำคัญว่า สินมั่นคงประกันภัยยืนยันเจตนารมณ์เดินหน้าธุรกิจต่อ ไม่ทิ้งความรับผิดชอบด้วยวิธีปิดกิจการ ย้ำการยื่นฟื้นฟูกิจการคือทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้เพราะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง  และนักลงทุนยังแสดงความสนใจที่จะลงทุน โดยหากบริษัทฯ สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ ปัญหาสินไหมโควิด เจอจ่ายจบ จะได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ธุรกิจหลักประกนภัยรถยนต์และนอน มอเตอร์ ยังมีศักยภาพ ผลประกอบการที่ดี ต่อเนื่องมาโดยตลอดและการชดใช้สินไหมประเภทอื่นยังสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ

สำหรับสาเหตุที่จำเป็นต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ เนื่องจาก ในปี 2564 บริษัทฯ ได้รับประกันภัย Covid-19 แบบเจอจ่ายจบ และแบบ 2 in 1 รวมประมาณ 2 ล้านกรมธรรม์ โดยมีเบี้ยรับจากประกันภัยรวมจำนวน 661 ล้านบาท

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดูแลผู้เอาประกัน และจ่ายสินไหมโควิดให้กับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิดป็นเงินจำนวน 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่ายชำระสินไหมโควิด

จากการระบาดของโควิดในวงกว้าง และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ ส่งผลให้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้เอาประกันมายื่นเคลมสินไหมโควิดเป็นจำนวนมาก ทำให้มีจำนวนเคลมสินไหมโควิดคงค้างอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท

เมื่อนับรวมสินไหมโควิดที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดจะเท่ากับ 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% และสูงกว่าการจ่ายสินไหมประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิดถึงเกือบ 100 เท่า

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขภาระค่าสินไหมโควิด ที่มีจำนวนมาก  โดยการสรรหานักลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถทางการเงินในการชำระค่าสินไหมโควิด ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจหลักของบริษัทฯ เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอดก็ตาม แต่สินไหมโควิด ที่ปัจจุบันสูงกว่า 41,875 ล้านบาท เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุน

อ่านข่าวเพิ่ม "สินมั่นคง" ยกเลิกประกันโควิดเจอจ่ายจบ พร้อมคืนเบี้ยประกันภัย

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นและพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยกระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงทางออกเดียวที่เหมาะสมที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ได้ และจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากบริษัทฯ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

บริษัทฯ จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัย และถูกปิดกิจการในท้ายที่สุด ส่งผลให้สินไหมโควิด หลายหมื่นล้านบาท ต้องตกเป็นภาระแก่กองทุนประกันวินาศภัย อันจะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางการเงินของกองทุนประกันวินาศภัยวิกฤติยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เนื่องจากในช่วงระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา กองทุนประกันวินาศภัยได้รับภาระให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้วถึง 4 ราย ทำให้มีแนวโน้มสูงที่กองทุนประกันวินาศภัยจะขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าสินไหมแทนบริษัทประกันวินาศภัยที่ต้องปิดกิจการซึ่ง ณ ปัจจุบันมียอดหนี้สูงกว่าสองหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้เอาประกันของบริษัทฯ จำนวนกว่า 2.5 ล้านฉบับ จะได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของบริษัทฯ รวมถึงพนักงานเกือบ 2,000 คน และคู่ค้าต่างๆ จะไม่ได้รับชำระหนี้และสูญเสียรายได้ ทางบริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล เมื่อวันที่ 17 พ.ค.65  ดังนั้น เพื่อให้บริษัทฯ ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่อง และปรับโครงสร้างการชำระหนี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและแก้ไขฐานะการเงิน ทั้งนี้ ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการให้ความร่วมมือของทุกฝ่าย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งขึ้นเครื่องหมาย C หลักทรัพย์ของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.นี้  

อ่านข่าวที่เกี่ายวข้อง

"สินมั่นคงประกันภัย" ยื่นศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ

คปภ.ยืนยันห้ามบริษัทยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง