ภารกิจท้าทายงานแรกสำหรับผู้ว่าฯ กทม.จากเลือกตั้ง 22 พฤษภาคมนี้ คือเรื่องรับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่หน้าฝนพอดี และได้ชิมลางให้เห็นแล้ว ในวันเปิดเทอมวันแรกที่ผ่านมา
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA เตือนว่า ไทยจะเจอทั้ง ลานีญา ช่วงต้นปี และปลายปีจะเจอ เอลนีโญ นั่นหมายความว่า ปีนี้ ประเทศไทยอาจเจอฝนมากในครึ่งปีแรก และคาดว่าฤดูฝนจะมาเร็ว พอเข้าเดือนพฤษภาคมก็จะมีฝนตกลงมามากในหลายพื้นที่ รวมทั้งกรุงเทพฯ
น้ำท่วมคือปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งกลัว และผวาเมื่อถึงหน้าฝน เพราะมาทีไรต้องคอยเก็บข้าวเก็บของ ใช้ชีวิตไม่ปกติสุข แต่บางคนคุ้นชิน เพราะทำอะไรไม่ได้ แม้จะใช้งบไปในสาระพัดโครงการ ทั้งระดับชาติคือรัฐบาลกลาง และท้องถิ่นอย่างกทม.
เชื่อหรือไม่ว่า ในรอบ6ปี นับตั้งแต่ปี 60-65 กทม.ใช้งบสำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วมไปแล้ว มากกว่า 1,300 โครงการ งบประมาณรวมกันมากกว่า 14,000 ล้านบาท เฉพาะปี 61 ใช้งบมากกว่า 2 พันล้านบาท แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้อย่างเห็นผลและยิ่งยืนไม่ได้
สื่อต่างประเทศอย่างนิกเคอิ เคยรายงานผ่านทางเว็บไซต์ ตั้งแต่ปี 2562 ว่า กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย และกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย เป็น 2 เมืองใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีอัตราการทรุดตัวของผืนดินเร็วที่สุด เมื่อเทียบกับเมืองหลวงอื่น ๆ
ทั้งนี้ได้อ้างถึง ข้อมูลจากสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการทรุดตัวลงปีละประมาณ 2 ซม. ทั้งคาดการณ์ว่า ประมาณ 40% ของกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้่ำ
ภายในปี 2573 หากทางการไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อหยุดยั้งการทรุดตัวลงของผืนดิน และปัญหาหลักอย่างหนึ่งที่ไจก้าระบุ คือประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยมาก ทำให้โครงการต่าง ๆ ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯเป็นเมืองใกล้ปากอ่าวมีปัญหาแผ่นดินทรุดอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ยังตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่รับน้ำจากน้ำด้านบน แม้พยายามจัดเส้นทางระบายน้ำอ้อมตัวเมืองกรุงเพฯไปทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันออก
แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อมีน้ำหลากจากฝนตกหนัก พายุเข้าหลายลูก หรือจากระบายน้ำเหนือเขื่อน หรือกรณีพิเศษอย่างน้ำท่วมปี 54 ทำให้กรุงเทพฯ ต้องอยู่คู่กับน้ำท่วมเหมือนกับอีกหลายจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำ
ในรอบ 100 ปีของกรุงเทพฯ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ท่วมขังบ้านเรือนเป็น 1-2 สัปดาห์ สร้างความเสียหายและเดือดร้อนหนัก มีไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง นับตั้งแต่การท่วมครั้งใหญ่ ปี 2485 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า บางช่วงน้ำขึ้นสูงถึง 1 เมตรกว่า
มิหนำซ้ำท่วมนานถึง 3 เดือน และยังกระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายแห่ง เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถ.เยาวราช บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถ.ราชดำเนิน หรืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมกระทั่ง พระที่นั่งอนันตสมาคม เหตุการณ์ครั้งนั้น นำไปสู่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อกักเก็บน้ำ ลดปริมาณน้ำจากฝนตก
จากนั้นก็เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นระยะ ๆ ต่อเนื่อง ปี 2518 /ปี 2521 น้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯตะวันออก /ปี 2526 น้ำท่วมใหญ่บริเวณ ม.รามคำแหงและใกล้เคียง /ปี 2537 น้ำท่วมใหญ่เพราะ”ฝนพันปี” มีปริมาณน้ำฝนถึง 200 มิลลิเมตร
ปี 2538 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2.27 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงที่สุดเท่ากับน้ำท่วมใหญ่ปี 85 /ปี 2539 และ ปี 54 ที่ถือได้ว่า รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯจากการเปิดระบายน้ำเหนือเขื่อน
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ครั้งนี้ บรรดาตัวเก็งทั้งหลาย จึงมีนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมมากมาย ตั้งแต่การขุดลอกคูคลอง /เพิ่มขนาดท่อระบายน้ำ และปรับรื้อระบบท่อเดิม ๆ /สร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติม /สร้างท่อระบายน้ำด้วยวิธีเดินท่อลอด หริอ pipe jacking / การเสริมแนวป้องกันริมตลิ่ง กระทั่งเรื่องใหม่ๆ ที่อาจเป็นความหวัง เช่น สร้างแก้มลิงใต้ดิน ตั้งเซ็นเซอร์สูบน้ำโดนไม่ต้องรอกุญแจเปิดปิดประตูระบายน้ำ
แต่นโยบายเหล่านี้ จะก่อให้เกิดมรรคผลสำเร็จ นอกจากตั้งใช้บประมาณจำนวนมากแล้ว ยังต้องประสานกับรัฐบาลกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดและอปท.พื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ เพื่อให้การระบายน้ำสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด
โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ไม่ใช่ทำแค่พอเป็นพิธี เพื่อรอให้เกิดปัญหาอีกในปีต่อ ๆ ไป จะได้มีโครงการเพื่อของบประมาณใหม่ในทุกปี ไม่จบสิ้น
เท่ากับเป็นเรื่องท้าทายสำคัญของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ของจริง