วันนี้ (20 พ.ค.2565) ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดคำแนะนำการเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนและการดูแลเด็กปฐมวัย โดยมีรายละเอียดส่วนหนึ่งว่า
แม้สถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มลดลง แต่เด็กปฐมวัยเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 และยังมีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมืออย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่หลายครอบครัวมีความจำเป็นต้องส่งเด็กวัยก่อนเรียนไปเข้าสถานศึกษา หรือศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัย หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงมีคำแนะนำแนวทางปฏิบัติแก่สถานศึกษาและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และสร้างความปลอดภัยแก่เด็กและบุคลากร
ทั้งนี้ ควรมีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับบุคลากรและเด็ก โดยทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส, เตรียมจุดล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล, มีระบบคัดกรองบุคลากร ผู้ปกครอง ญาติและเด็ก, จัดระบบระบายอากาศภายในอาคารที่ดี, มีมาตรการเว้นระยะห่าง และหากพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป พิจารณาปิดห้องหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย นาน 1-3 วัน เพื่อทำความสะอาด สอบสวนโรคและแยกผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง
ขณะที่บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็ก ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล DMHT สวมหน้ากากอนามัยคลอดเวลาเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิดที่ระบายอากาศไม่ดีหากไม่มีข้อห้าม เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือผู้มีปัญหาทางกล้ามเนื้อ ระบบประสาท หรือพัฒนาการล่าช้า, แนะนำให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการสงสัยการติดเชื้อ COVID-19 หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง, หากมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ต้องหยุดมาสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและรายงานอาการป่วยให้ผู้รับผิดชอบทราบโดยเร็ว, ผู้ติดเชื้อให้หยุดอยู่บ้าน หรือรักษาในสถานพยาบาลตามความรุนแรงของโรค, ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่มีอาการและได้รับวัคซีนครบ กรณีผล ATK เป็นลบให้พิจารณาหยุดกักตัวที่บ้าน เมื่อครบ 5 วันให้ตรวจ ATK ซ้ำ หากผลตรวจเป็นลบให้กลับมาทำงาน แต่งดกิจกรรมรวมกลุ่ม สวมหน้ากากมิดชิด และตรวจ ATK ในวันที่ 10, เด็กปฐมวัยที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงควรหยุดอยู่บ้าน 10 วัน และบุคลากรทุกคนควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน