ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบ "กุ้งเต้นเจาะรากไม้" ชนิดใหม่ของโลกในป่าชายเลนเกาะกูด

Logo Thai PBS
พบ "กุ้งเต้นเจาะรากไม้" ชนิดใหม่ของโลกในป่าชายเลนเกาะกูด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมนักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.บูรพา และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พบ “ กุ้งเต้น” เจาะรากไม้ชนิดใหม่และสกุลใหม่ของโลกบริเวณป่าชายเลนอ่าวพร้าวเกาะกูด จ.ตราด ชี้ทั่วโลกมีรายงานเพียง 4 ชนิดทั้งหมดพบในทะเลเมดิเตอเรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก

วันนี้ (25 พ.ค.2565) เพจประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โพสต์ข่าวดีเกี่ยวกับวงการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม หลังจากทีมนักวิจัยภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สำรวจร่วมกันในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในการสำรวจครั้งนี้ได้ค้นพบ “กุ้งเต้นเจาะรากไม้” ชนิดใหม่ และสกุลใหม่ของโลกในป่าชายเลนอ่าวพร้าว เกาะกูด จ.ตราด

กุ้งเต้นเจาะรากไม้ (Thailandorchestia rhizophila) ชนิดใหม่ และสกุลใหม่ของโลก เป็นสัตว์ในซับไฟลัมครัสเตเชียน คือกลุ่มเดียวกับกุ้ง ปู แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวแบนข้าง มีขาเดิน 7 คู่ ต่างจากกุ้งที่เรารู้จักกันที่มีขาเดิน 5 คู่ ปกติจะพบอาศัยในน้ำ แต่กุ้งเต้นชนิดนี้ เพิ่งวิวัฒนาการจากทะเลขึ้นมาบนบก แต่ยังมีลักษณะความเป็นสัตว์น้ำอยู่ คือหายใจด้วยเหงือก พบอาศัยบริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่างน้ำจืดและน้ำทะเลเช่นบริเวณปากแม่น้ำหรือป่าชายเลน

กุ้งเต้นเจาะไม้ เป็นกลุ่มที่หาได้ยาก ทั้งโลกมีรายงานเพียง 4 ชนิด ทั้งหมดพบที่ทะเลเมดิเตอเรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก ทีมวิจัยได้ตั้งชื่อว่า Thailandorchestia rhizophila โดยชื่อสกุลมีที่มาจาก Thailand (ประเทศไทย) + orchestia (นักเต้น) ส่วน specific epithet มาจาก rhizo (รากไม้) + phila (รัก)

ลักษณะสำคัญของกุ้งเต้นเจาะรากไม้ คืออาศัยอยู่กับรากไม้และไม้ผุตลอดชีวิต โดยจะเจาะเข้าไปด้านในสร้างเป็นห้องขนาดใหญ่ อยู่กันเป็นครอบครัว อาหารหลักที่กินคือไม้ผุ

ผู้ค้นพบประกอบด้วย ดร.กรอร วงษ์กำแหง และดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และน.ส.รัชนีวรรณ สุมิตรากิจ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

สำหรับข้อมูลงานวิจัยฉบับเต็ม https://zookeys.pensoft.net/articles.php?id=82949

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง