วันนี้ (26 พ.ค.2565) พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงเหตุปะทะที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
อ่านข่าวเพิ่ม : ระทึก! ผู้ก่อเหตุระเบิด-ยิงปะทะ ตำรวจน้ำตากใบ จนท.เจ็บ 3 นาย
โดยระบุว่า ลักษณะการก่อเหตุครั้งนี้ เป็นการมุ่งโจมตีสถานีตำรวจน้ำและเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิทักษ์พื้นที่ของกองร้อยป้องกันชายแดน โดยใช้กำลัง 2 ชุดปฏิบัติการ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เคลียร์พื้นที่และเก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่องแบบไบท์บอมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งพบระเบิดด้านอยู่หลายลูก และเจ้าหน้าที่เก็บวัตถุพยานได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นแล้ว แต่ยังเป็นกังวลเรื่องรถจักรยานยนต์ของผู้ก่อเหตุ เนื่องจากใช้หลายคัน เมื่อคืนที่ผ่านมาจอดทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ 1 คัน เจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการเก็บกู้ พบว่า เป็นรถที่ถูกแจ้งหายก่อนหน้านี้
พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า ขณะนี้พอจะรู้แล้วว่ากลุ่มไหนเป็นผู้ก่อเหตุ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งรูปแบบการก่อเหตุ มีลักษณะเดียวกับผู้ก่อเหตุรุนแรงก่อนหน้านี้ ที่มีการวางแผนและเข้าดำเนินการอย่างเป็นระบบ
ส่วนปัจจัยหรือผู้อยู่เบื้อหลังของการก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ตั้งสมมติฐานไว้คือ 1.เป็นการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับพูดคุย และไม่เห็นด้วยกับแนวทางลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเป็นกลุ่มที่ตกขบวนการพูดคุย
2. กลุ่มนี้ค่อนข้างให้น้ำหนักคือ เป็นการตอบโต้จากกลุ่มภัยแทรกซ้อน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโกลก ในช่วงตั้งแต่เปิดด่านวันที่ 1 พ.ค.2565 แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่และกองร้อยป้องกันชายแดน เข้าไปกวาดล้างธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ยึดโกดังสินค้าหนีภาษี จับกุมแรงงานข้ามชาติ ซึ่งภายใน 1 เดือน จับกุมได้ 387 คน และผู้นำพา 10 คน ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาค 8 ขยายผลคดียาเสพติดเข้ามาเปิดแผนในพื้นที่พร้อมกัน 29 เป้าหมาย และเมื่อวันก่อนจับยาบ้าได้อีก 1,500,000 เม็ด ทั้งหมดเป็นปัจจัยเร่ง ให้กลุ่มนี้ต้องการตอบโต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
สังคมอาจถามว่า คนพวกนี้มีศักยภาพในการก่อเหตุได้หรือไม่ ซึ่งเขาใช้ลูกค้าคนเดียวกัน เขามีความสัมพันธ์ในลักษณะการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เจ้าหน้าที่มีหลักฐานและมีบทเรียนมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา ว่าการก่อเหตุของกลุ่มภัยแทรกซ้อน เขาใช้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมาเป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ เพราะฉะนั้นการก่อเหตุจะมีลักษณะคล้ายกัน
ซึ่งทั้ง 2 สมมติฐาน ต้องขอเวลาในการรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งงานข่าวเชิงลึก หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และกล้องวงจรปิด
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่มีแผนครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่การเยียวยาผู้บาดเจ็บ การฟื้นฟูพื้นที่ การสร้างความเข้าใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่น การติดตามผู้ก่อเหตุ และการเดินหน้าขบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้