ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ล้วงลึก "ชัชชาติ" หลังชนะเลือกตั้ง ลงพื้นที่ 5 วันติดเผชิญหลากปัญหาคนกรุง

การเมือง
28 พ.ค. 65
14:57
674
Logo Thai PBS
ล้วงลึก "ชัชชาติ" หลังชนะเลือกตั้ง ลงพื้นที่ 5 วันติดเผชิญหลากปัญหาคนกรุง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ล้วงลึก "ชัชชาติ" หลังชนะเลือกตั้ง ลงพื้นที่ 5 วันติดเผชิญหลากปัญหาชีวิตจริง ย้ำเป้าหมายเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ได้สำหรับทุกคน แนะ ผอ.เขต-ขรก.ควรอ่านนโยบาย 200 บวก ให้ถ่องแท้

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ "ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์" เจาะแนวคิดการทำงาน หลังชนะเลือกตั้ง และลงพื้นที่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ มาแล้วช่วง 5 วันที่ผ่านมา (23 - 27 พ.ค.2565) โดยเฉพาะการต้องทำงานกับข้าราชการ และ บุคลากร กทม.รวมถึงหลากหลายปัญหาในกรุงเทพฯ ที่สะสมนานหลายปี

 

ช่วงหาเสียง กับ หลังรู้ผลเลือกตั้ง จนถึงวันนี้ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีความแตกต่างกันอย่างไร ?

ชัชชาติ : แตกต่างกันนะ มาถึงวันนี้ ผมมั่นใจขึ้นว่า เรามาถูกทาง ช่วงแรก เรายังไม่ได้สัมผัสกับประชาชน ยังไม่ได้สัมผัสกับข้าราชการ นโยบายเรายังไม่ได้ถูกอ่านอย่างกว้างขวาง ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ

 

แต่ขณะนี้ได้เริ่มลงพื้นที่ต่อเนื่อง (หลังผลเลือกตั้งจบ) ได้เห็น ได้ยิน คนเริ่มอ่านนโยบายของเรา กลายเป็นเหมือนคนพูดถึงเยอะเลย ทำได้จริงหรือเปล่า เฮ้ย โม้หรือเปล่า อันนี้แหละคือสิ่งที่คิดว่า เรามาถูกทาง คือ ถ้าไม่ดีจริง ผมคิดว่า ไม่มีใครมาอ่าน ไม่มีใครสนใจหรอก คิดว่ามาถูกทาง มั่นใจว่าวิธีนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม และจะเห็นว่านโยบายเรา ซึ่งหลายคนที่ให้ความเห็นไว้ อาจจะยังไม่ได้อ่านละเอียด

 

ถ้าลองได้อ่านละเอียดผมเชื่อว่า ไม่ใช่นโนบายที่หรูหราเพ้อฝันนะ มันเป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น อาหารกลางวันเด็กต้องมีคุณภาพ, การเรียนต้องเรียนฟรีจริง ๆ โครงการแพงสุดก็คือ เรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยดูแลการจราจร ประมาณ 3,000 ล้านบาท อย่างเรื่องอื่น ๆ ก็เช่น การเปิดโรงเรียนวันเสาร์- อาทิตย์ ให้เด็กทำกิจกรรมได้ ก็แทบไม่ได้ใช้เงินเลย นอกจากการจ่ายค่าล่วงเวลาของครู ฯลฯ 

ถ้าใครไม่ได้อ่านนโยบาย ก็อาจจะว่า มันโม้ แต่จริง ๆ นโยบายเราถือว่าทำได้จริง

มาวันนี้ คิดว่าเรื่องอะไรทำยากที่สุด ที่มองเห็น ?

ชัชชาติ : ผมว่าเรื่องทุจริตคอรัปชัน ที่มันฝังรากลึกและเป็นเรื่องของคน ซึ่งหากเข้าไปทำงานแล้วจริง ๆ ต้องเชิญองค์กรต่อต้านคอรัปชันมาคุยเลย ผมอาจจะไปหาที่องค์กรฯเอง เดี๋ยวขอพิจารณารูปแบบอีกครั้งก่อน แต่ต้องขอให้มาช่วยระงับเรื่องทุจริต เพิ่มเรื่องความโปร่งใสให้เรา

ผมว่าหัวใจคือการเอาคนนอกเข้ามาช่วยดูตรวจสอบการทำงานของ กทม.ด้วย ต้องมีข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่เข้าไปร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างใหญ่ ๆ ต้องฉายไฟสปอร์ตไลต์ เข้าไปที่ บ.กรุงเทพธนาคม เพื่อให้เห็นความโปร่งใส เพราะว่าเป็นหน่วยของ กทม.ที่ใช้เงินจำนวนมาก

ผมว่าตรงนี้มีแนวทางต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจับ เพราะฉะนั้นในช่วง 2 สัปดาห์แรก ( หลังเป็นผู้ว่าฯ กทม.เป็นทางการ) การทำงานจะเป็นช่วงการเดินสายหาพันธมิตร ทั้งเรื่องคอรัปชัน, กสทช.ที่ต้องคุยกันระบบนำสายไฟฟ้า-เคเบิลลงใต้ดิน, ซึ่งต้องพูดคุยกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ทางหลวงพิเศษ และ รถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) เรื่องการนำพื้นที่ดินไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งจะไปขอให้เขาจับมือร่วมไปกับเรา

 

วางแผนการทำงานกับบุคลากรทั้ง 50 เขตของ กทม.ไว้อย่างไร

ชัชชาติ : ต้องคุยกันเรื่องนโยบายรายเขตมาร่วมกัน นอกเหนือจากนโยบายภาพรวม หลังจากนั้นต้องปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความเห็นของข้าราชการ และเริ่มไปพูดคุยรายเขต

 


จะใช้วิธีเชิญประชุมที่ศาลาว่าการ หรือ สัญจรไปทุกเขต ?


ชัชชาติ : การสัญจรก็มีข้อดีเพราะจะได้เห็นว่าสภาพพื้นที่ปัญหาแต่ละเขตเป็นอย่างไร การดูแลเป็นอย่างไร การสาธารณสุข ชุมชนเป็นอย่างไร

 

ถ้าเราอยู่ที่ศูนย์กลางแล้วใช้วิธีการออนไลน์มา ก็จะไม่เห็นภาพชีวิตจริง อาจได้เห็นบรรยากาศและอาจจะได้เจอข้าราชการที่ไม่ใช่ระดับหัวหน้า เจอระดับปฎิบัติการ หรือ กลุ่มลูกจ้าง เพราะจริง ๆ แล้วบางทีข้อมูลก็จะไหลมาจากระดับลูกน้องได้เหมือนกัน

อยากปิดห้องคุยโดยที่ ผอ.เขต ไม่ต้องเข้า เชิญแต่ลูกน้องเข้า ให้คุยกันได้เต็มที่ Free Speech กันเต็มที่ ผมว่าเราสบาย ๆ แต่ ผอ.เขต ต้องไม่เครียดนะ สบาย ๆ ผมว่าเราใช้หลักบริหารแบบนี้เข้ามาร่วมด้วย

 

นโยบายหลักและนโยบายเส้นเลือดฝอยจะสื่อสารให้ ผอ.เขตและบุคลากร กทม. เข้าใจได้อย่างไร ?


ชัชชาติ : ไม่ยากครับ ไม่ยาก อยากให้ ผอ.เขต อ่านทุกเรื่อง ทั้ง 200 เรื่อง และนโยบายเส้นเลือดฝอยตามแต่ละชุมชนไม่ยากแต่ขอให้ใส่ใจในการอ่าน

 

เราเสียเวลาเล่นไลน์มากกว่านี้อีก แล้วเรื่องไหนที่มันแตะหน้าที่เราก็จับขยี้เรื่องนั้นมากหน่อย เช่น ถ้าพูดเรื่องศูนย์สาธารณสุข ผอ.เขต อาจจะไม่ได้มีผลมาก เพราะเป็นเรื่องของทีมแพทย์สาธารณสุข กทม.เป็นหลัก

 

แต่ถ้าผมบอกว่าเรื่องปลูกต้นไม้ล้านต้น ท่าน ผอ.เขตก็ต้องไปดูแล้ว ไปหาที่ปลูกต้นไม้ อันนี้เป็นเรื่องของ ผอ.เขตโดยตรง หรือ เรื่องบริหารจัดการพื้นที่หาบเร่แผงลอยและที่ทำกิน ผอ.เขตก็ต้องไปดูแล้วว่า จะมีจุดไหนทำได้บ้าง

ผมว่าอ่านนโยบายให้สบาย ๆ ให้สนุก เพราะเราไม่ได้มาแต่นโยบาย แต่บอกด้วยว่า ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร อะไรคือแนวคิดนโยบายหลัก Guiding Policy, Action Plan แผนการปฏิบัติงานคืออะไร

 

ผมคิดว่าท่านอ่านไปก่อน บางเรื่องที่เกี่ยวกับท่าน ก็ติ๊กไว้ แต่เรื่องอื่นก็ต้องรู้ไว้ เพราะมันอาจเกี่ยวข้องกับหลายสำนักงาน หรือ หลายเขต ก็ต้องรู้ไว้ แต่ผมไม่ได้บังคับให้อ่านนะ แต่ผมเชื่อว่าถ้าสุดท้ายแล้ว ผู้บริหารมาพร้อมคำตอบอันนี้ไม่ดี คำตอบแบบแข็งไม่ดี

ท่าน ผอ.เขต ต้องช่วยตอบสนองว่า เฮ้ยมันต้องปรับปรุงอะไรหรือไม่ นโยบายที่ให้ไปท่านเห็นว่ามีเรื่องอะไรที่ทำไม่ได้ มีข้อจำกัดตรงไหนต้องบอกมา อยากให้เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ไม่ใช่ ครับ ๆ ๆ อย่างเดียว หรือ บังคับให้เอานโยบายเราไปทำ แต่อยากขอฟีดแบ็กขอตอบว่า อยากให้ปรับตรงไหน หรือ ควรจะเพิ่มอะไร จะเป็น 300 นโยบายก็ได้ ถ้าอยากทำ ผมก็ให้ เราต้องคุยกันเพื่อให้เกิดจุดร่วมกัน

แต่จริง ๆ แล้วยืนยันว่า ดีใจมากที่ประกาศนโยบายไว้ 200+ เพราะถ้ามีแค่ 10 นโยบาย ทาง ผอ.เขต จะเหงาเลย เพราะจะมีคนที่ไม่มีนโยบายไปเกี่ยวกับเขา กทม.เรามี 16 สำนัก และยังมีอีก 50 เขต ประชากร 5-6 ล้านคน การจะขับเคลื่อนได้ มันไม่มีทางที่จะขับเคลื่อนได้ด้วยนโยบายไม่กี่นโยบาย จริง ๆ 200 นโยบาย ผมว่ายังน้อยเกินไปด้วย

 

อย่างวันก่อนถูกถามมาว่า ไม่มีนโยบายเรื่องยาเสพติดหรือ ก็เออเราเอะใจว่าไม่ได้เขียน แต่เราก็เขียนไว้ในมิติอื่น เช่น จัดลานกีฬา เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก ผมว่านี่คือความสวยงามของการมีแผนที่ละเอียดและเราไม่ได้ต้องรอเวลาฮันนีมูน

ช่วงหาเสียง อ.ชัชชาติ บอกว่า มีความสนุกอีกแบบ มาถึงวันนี้ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้เจอปัญหาที่ต้องแก้ของจริง ยังมีความสนุกมากกว่าหรือไม่


ชัชชาติ : ตอนหาเสียงก็ว่าสนุกแล้ว ตอนนี้ เห็นแล้วว่าน่าจะสนุกกว่า เพราะมีคนร่วมเดินทางไปกับเรามากขึ้น หลายคนรู้สึกว่าชีวิตมีความหวัง เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตเขาและหวังว่านโยบายเหล่านี้จะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้นได้ ผมว่าพลังนี้สำคัญนะ เช่น ถ้าจะขอให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น

 

จากคนที่เขาโหวตคะแนนให้เรา คนละต้น ก็จะได้ต้นไม้เกือบ 1.4 ล้านต้นแล้ว ใช่ไหม เราจะมีพลังที่จะมาช่วยกันแก้ปัญหา หลาย ๆ คนที่เราเจอ เขาบอกพร้อมที่จะไปกับเรา เป็นมิติใหม่ ผมก็ไม่รู้ ไม่ได้สนใจว่าคน ๆ นั้นพรรคอะไร ที่สนใจคือ คนกรุงเทพฯ ที่จะช่วยกันสร้างเมือง ให้ กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้จริง ๆ

หลังจากลงหลายพื้นที่ต่อเนื่องมา 5 วัน ในฐานะ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.เต็มตัว มองเห็นปรากฏการณ์สำคัญอะไร ?

ชัชชาติ : ผมว่าข้าราชการ กทม. มีความตั้งใจที่อยากแก้ปัญหา ถ้าเราให้ทิศทางเขา ผมว่าทุกคนพร้อมที่จะร่วมมือกัน ชุมชนเองผมว่าทุกคนก็อยากมีพลังที่อยากจะทำเมืองให้ดีขึ้น

ทุกคนเองไม่ได้โกรธแค้นอะไร เพียงแต่เขามากับปัญหา แต่เขาก็พร้อมที่จะร่วมมือเพื่อให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งเพื่อคำตอบของเมืองน่าอยู่ นี่คือสิ่งที่ดี

 

ผมคิดว่าปัญหาหลายอย่างไม่ได้ยากที่จะแก้ไข และการลงพื้นที่ก็ไม่ได้หนักใจอะไร คิดว่าช่วยกันทำได้ สื่อสารได้ดี สุดท้ายเราจะเดินไปด้วยกันได้ และไม่มีความขัดแย้งเรื่องพรรคหรืออะไรทุกคนก็มาช่วยกัน

เราบอบช้ำจากความขัดแย้งทะเลาะกันมาเยอะแล้ว มันถึงเวลาที่เราต้องเดินไปด้วยกัน เราต้องเคารพ ส.ก. เพราะเป็นคนที่ประชาชนเลือกมาเหมือนกัน และ ส.ก.เองก็ต้องฟังเราเหมือนกัน เพราะเราก็เป็นคนที่ประชาชนเลือกมาเหมือนกัน ต่างคนต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน

เราเองก็ต้องให้เกียรติ ท่าน ผอ.เขต แต่ละเขต ทั้ง 50 เขต เพราะเป็นข้าราชการที่อยู่ในพื้นที่ ทางสำนักงานเขตข้าราชการบุคลากร ก็ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ชุมชน แก้ปัญหาให้เร่งด่วน ชุมชนเองก็ต้องเชื่อใจไว้ใจคนของเขต และต้องช่วยกันดูแลชุมชน ดูแลหน้าบ้านของตัวเองด้วย จะมาหวังให้เขตทำทุกเรื่องแล้วไม่ช่วยกันก็ไม่ได้

 

ผมว่าเราให้เกียรติและทำงานร่วมกัน ผมก็สนุกกับการทำงาน ดูมีความหวังที่จะทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปได้จริง และมันต้องใช้ 3 ประสาน คือ ผู้บริหาร - ข้าราชการ และชุมชนร่วมกัน ผมว่าเราเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง