วันนี้ (15 มิ.ย.2565) ท่ามกลางบรรยากาศเดือนแห่งผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตไปแล้ว ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาประเด็นการให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศดำรงสถานะคู่สมรส
สำหรับ 4 ร่าง พ.ร.บ.ที่จะเข้าสู่การพิจารณา คือ ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล, ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ ครม.เสนอ, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือ วิปรัฐบาล เปิดเผยว่า เบื้องต้นวิปรัฐบาล จะไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ส่วนอีก 3 ฉบับจะลงมติรับหลักการ โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็นร่างกฎหมายเฉพาะ เห็นว่าควรดำเนินการไปก่อน
กระแสโซเชียลดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
หลังมีท่าทีดังกล่าวออกมา ตลอดช่วงเย็นและค่ำคืนที่ผ่านมา มีผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก จนแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม กลับมาติดเทรนในทวิตเตอร์อีกครั้ง โดยส่วนใหญ่เห็นว่าควรรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยอดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ทวีตวิดีโอที่มีใจความว่า ส.ส.ควรรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ใช่กฎหมายที่เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ขณะที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ระบุว่า ส.ส.แต่ละคน ล้วนแล้วแต่มีเอกสิทธิ์ สามารถตัดสินใจในการลงมติด้วยตนเองได้ พร้อมเรียกร้องให้มีการลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
นายกฯยัน ส่งเสริมผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ส่วนท่าทีของนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้ผ่านการปรึกษาหารือจนออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ.ได้ และอาจมีความต้องการที่มากกว่านี้ แต่ขอให้ผ่านกระบวนการนี้ไปก่อน โดยยืนยันว่าหลายอย่างต้องดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้ง 4 ฉบับ จะนำมาอภิปรายรวมกัน แต่ลงมติแยกกันทีละฉบับ และหากเข้าสภาและผ่านในวาระแรกก็จะมีการตั้งกรรมาธิการพิจารณากันต่อไป
สำหรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตของ ที่ ครม.เห็นชอบ กับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล มีหลายประเด็นที่ให้สิทธิแตกต่างกัน เช่น การหมั้น การใช้สิทธิลดหย่อนภาษี การอุ้มบุญ การขอสัญชาติไทยกรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ เละสิทธิต่าง ๆ ของรัฐที่จะได้รับ เป็นต้น