วันนี้ (22 มิ.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 22 มิถุนายน ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.50 น.โดยเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จหลายฉบับ ในวาระ 2 และวาระ 3
อาทิ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 พ.ศ...., ร่างพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่..) พ.ศ..., ร่างพ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่...) พ.ศ...., ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ...., ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พบว่า ประธานในที่ประชุมต้องขอความร่วมมือ ส.ส.กดบัตรแสดงตนอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากมี ส.ส.ที่ร่วมเป็นองค์ประชุมมีจำนวนซึ่งเกินองค์ประชุมที่ต้องใช้ 239 เสียง ไม่ถึง 10 เสียง
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งมี ส.ส.เสนอให้ที่ประชุมพักการประชุม 1 ชม.เพื่อให้ ส.ส.รับประทานอาหารกลางวัน แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ประธานในที่ประชุมไม่เห็นด้วย พร้อมย้ำว่าขอให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประชาชนเลือกเข้ามา อีกทั้งการขอให้พักการประชุม เหมือนกับสมัย 50 ปีที่แล้วนั้นทำไม่ได้ เพราะบริบทและหน้าที่ของสภาฯ แตกต่างจากยุคก่อน ดังนั้นขอให้ ส.ส.รับผิดชอบต่อหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการพิจารณาของ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ.... ช่วงที่มีการขอมติต่อข้อสังเกต กมธ.พบว่า มีผู้แสดงตนเพียง 239 คน ทำให้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กล่าวว่า “ตัวเลขที่แสดงครบองค์ประชุมเป๊ะ ขอให้ฝ่ายรัฐบาลทำงานหน่อย หากมีสมาชิกเข้าห้องน้ำไปคนเดียวต้องปิดประชุมทันที”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาฯที่ดำเนินมาถึงวาระที่ 6 ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ.... พบว่ามีข้อขัดแยังจากการพิจารณาเนื้อหาที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เนื่องจากได้ตัดบทบัญญัติที่เป็นประโยชน์ของข้าราชการที่รับบำเหน็จบำนาญ ทำให้ฝ่ายค้านขอให้ถอนเนื้อหาดังกล่าวเพื่อนำไปทบทวนและส่งให้สภาฯ อีกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม
ทั้งนี้นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.แสดงจุดยืนว่า ไม่ยอมแต่เมื่อฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุม ทำให้นายวีระกร ขอถอนร่าง พ.ร.บ.กลับไปทบทวนและเสนอใหม่
จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่กมธ.ร่วมกันพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายลำดับที่ 7