ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รายงานพิเศษ : “สิทธิแม่น้ำ” ความหวังปกป้องลำน้ำโขง

ภูมิภาค
1 ก.ค. 65
15:31
495
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ : “สิทธิแม่น้ำ” ความหวังปกป้องลำน้ำโขง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“เราคิดว่ามันก็เป็นความหวังหนึ่งที่ต้องมาพูดถึง...” คำปิ่น อักษร ผอ.โฮงเฮียนฮักของบ้านตามุย จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงความสำคัญ และความคาดหวังในเรื่องสิทธิของแม่น้ำ

หลังตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีเสียงพร่ำบอกถึงผลกระทบต่อหลากชีวิตในสายน้ำโขงและลุ่มน้ำสาขา ทั้งต่อผู้คน สิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณ และวิถีวัฒนธรรม ตลอดริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งยังเป็นโจทย์ที่รบกวนจิตใจและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต วิถีชุมชน ของเครือข่ายชาวบ้านตลอดเรื่อยมา

โดยเฉพาะในห้วงยามที่ “แม่โขง” แม่น้ำสายประธาน ถูกคุกคามด้วยเขื่อนบนสายน้ำโขง และปัจจัยแวดล้อม เช่น เรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของระบบนิเวศ

 

เครือข่ายชาวบ้าน ภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สำนักข่าว Bangkok Tribune และองค์กรเครือข่าย ร่วมจัดเวทีเสวนา “สิทธิของแม่น้ำ” ณ สายน้ำโขงและลำน้ำสาขา, ความจริงหรือความฝัน ? ที่บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อถอดบทเรียนการต่อสู้ที่ยังไม่จบจากผลกระทบของโครงการพัฒนาบนสายน้ำโขงและลำน้ำสาขา

โดยหวังว่า “สิทธิแม่น้ำ” หรือ “legal rights” จะทำให้แม่น้ำทุกสายได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และต่อยอดทางความคิดนำเสนอทางออกของปัญหาและสร้างความตระหนักในประเด็นดังกล่าว ในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของแม่น้ำและเครื่องมือทางกฎหมายใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก ระหว่างวันที่ 20-22 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา

นั่นเพราะการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างสมดุล ควบคู่กับการปกป้องดูแลสายน้ำจากชาวบ้านยังไม่เพียงพอ “สิทธิแม่น้ำ” หรือ “legal rights” จึงเป็นอีกความหวังที่จะให้แม่น้ำทุกสาย โดยเฉพาะแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

 

สื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส พูดคุยกับ รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคำปิ่น อักษร ผู้อำนวยการโฮงเฮียนฮักน้ำของบ้านตามุย ถึงเรื่องสิทธิ สถานะทางกฎหมายต่อแม่น้ำ ว่าเป็นจริงได้หรือไม่ และสำคัญอย่างไร

ระดับนานาชาติเป็นจริงแล้ว แต่ในประเทศไทยมันต้องอาศัยพละกำลังจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความคิดเรื่องสิทธิ นึกถึงความเท่าเทียม นึกถึงความเป็นธรรม

ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผอ.ศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อธิบายถึงความสำคัญของ “สิทธิ” และ “ความเป็นธรรม”

ถ้าในสังคมไทยตระหนักในเรื่องพวกนี้ที่ชัดเจน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา หรือแม้กระทั่งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ถ้าเราพูดภาษาเดียวกัน คำว่า สิทธิ มันหมายถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาคและการให้เกียรติการเคารพซึ่งกันและกัน อาจารย์ว่าเป็นไปได้ แต่ในสังคมไทยคิดว่ายังนานอยู่ ตอนนี้ในประเด็นต่าง ๆ คนก็ยังเรียกร้องสิทธิให้กับคนอยู่ ยังไปไม่ถึงไหนเลย รัฐธรรมนูญก็ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนอยู่ ไม่ต้องนับถึงแม่น้ำ ไม่ต้องนับถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตเลย

ดร.กนกวรรณกล่าวว่า ถ้าเราไม่เริ่มคุยกันวันนี้ คิดว่าก็ไม่รู้จะเริ่มเมื่อไร มันถึงเวลาที่ต้องพูดคุยเรื่องสิทธิของธรรมชาติ เพราะราใช้ธรรมชาติมากเกินไป โดยที่ไม่คำนึงถึงความสมดุล โดยที่ยังไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธรรมชาติเอง เช่น เรื่องแม่น้ำโขง แล้วก็ผลกระทบธรรมชาติที่เกิดจากการพัฒนาที่กระทบต่อผู้คนที่อาศัยธรรมชาติ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำสาขา

 

ด้าน ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า สิทธิของแม่น้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ จริง ๆ แล้วเรื่องสิทธิของแม่น้ำ ไม่ใชเรื่องใหม่ เพราะว่าแต่ก่อนชาวบ้านมองว่า “แม่น้ำก็เป็นตัวเขา ตัวเขาก็เป็นแม่น้ำ” ไม่ได้แยกออกจากกัน อันนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิของแม่น้ำ” แต่พอมายุคใหม่ กลายเป็นว่าเรื่องสิทธิมันถูกมอบให้กับบุคคลเพียงอย่างเดียว หรือนิติบุคคล

แม่น้ำสามารถให้บุคคลเป็นตัวแทนได้ไหม คำตอบก็คือได้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุติ บริษัทที่ทำต่าง ๆ หรือว่ารัฐบาลเอง ก็เป็นสิ่งที่เราสมมุติกันขึ้นมา แม่น้ำก็สามารถมีตัวแทนได้

ถ้าในแง่ที่ว่าสังคมที่่เราสร้างขึ้นมา เราสามารถสร้างสถาบันสังคมขึ้นมาแล้วก็มีกรอบกติกา กฎหมายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เราตกลงกันภายในชุมชน ภายในสังคม

ดร.สุรสม กล่าวต่อว่า สิทธิของแม่น้ำ ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปได้ครับ เป็นข้อตกลงที่ทำร่วมกันกับคนในสังคม ถามว่าแม่น้ำสามารถจะมีสิทธิเหมือนกับบุคคลได้หรือไม่ ? แต่ก่อนเราอาจจะคิดว่าไม่ได้ เพราะว่าเราได้รับการศึกษามาแบบว่าธรรมชาติก็คือธรรมชาติ มนุษย์ก็คือมนุษย์

แต่ถ้าเราย้อนกลับไปในอดีต เราไม่สามารถแบ่งได้ว่า มนุษย์กับธรรมชาติเป็นคนละสิ่งหรือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นเราต้องกลับมาทบทวนว่า ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราที่มองธรรมชาติ มองมนุษย์ มองโลก มองสิ่งต่างง ๆ เราไม่ได้มองว่า มันแยกออกจากกันได้ เพราะฉะนั้นชาวบ้านหรือคน ก็สามารถที่จะพูดหรือว่าเป็นตัวแทนของแม่น้ำได้

สิทธิของแม่น้ำคือความหวัง

เราคิดว่ามันก็เป็นความหวังหนึ่งที่ต้องมาพูดถึง...” คำปิ่น อักษร ผอ.โฮงเฮียนฮักของบ้านตามุย จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงความสำคัญและความคาดหวัง ในเรื่องสิทธิของแม่น้ำ

ตอนนี้ถ้าเรามองในมิติผลกระทบกับมนุษย์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เสียงเหล่านั้นยังไม่ได้ถูกสนใจ ถ้าเรามาลองดูในแต่ละฤดูกาล มาสังเกตหินมันมีชีวิต หอยมันมีชีวิต สิ่งเหล่านี้เรียกร้องไม่ได้เลย มีมนุษย์เท่านั้นที่ไปปกป้องแม่น้ำบ้าง แต่ก็ไม่เห็นสิทธินั้น

เราคิดว่าเป็นกระบวนการที่ดี ที่ทางมหาวิทยาลัย ริเริ่มที่คิดเรื่องของสิทธิแม่น้ำ และถ้าเป็นไปได้ต่อไป ประชาชนอาจจะฟ้องร้ององค์กรของรัฐ หรือฟ้องร้องที่รัฐบาลทำร้ายแม่น้ำก็ได้ในอนาคต เราคิดว่าเป็นเรื่องของความหวัง

ความหวังเรื่องสิทธิแม่น้ำในต่างประเทศไทยมีแล้ว เขาทำได้อย่างไร มีกระบวนการอย่างไร

ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า แม่น้ำพูดไม่ได้ด้วยตัวเอง แต่แม่น้ำจะพูดจะสะท้อนสิทธิและรักษาสิทธิของตัวเองแล้วก็ใช้สิทธิของตัวเอง แต่ต้องมีองค์กร ที่ทำหน้าที่พูดแทนฟ้องแทน สะท้อนสิทธิของตัวเองแทนแม่น้ำ ขอยกตัวอย่างประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ดังมากของทั่วโลก แล้วทั่วโลกก็ให้ความสนใจ ประเทศนิวซีแลนด์จะรักษาและหวงแหนธรรมชาติมากเพราะเป็นเกาะ

ตอนนี้ทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงผู้คนมีจำกัด โดยเฉพาะคนพื้นเมือง ชาวพื้นเมืองอาศัยแม่น้ำวังกานุย มายาวนานเป็นพัน ๆ ปี ร้อย ๆ ปี เขาหวงแหน เขารักษา แต่อยู่มาวันหนึ่งแม่น้ำถูกทำลาย หรือว่ามีการพัฒนาเข้าไป

แม่น้ำพูดไม่ได้ แต่คนพื้นเมืองที่รักษาแม่น้ำรู้ว่าแม่น้ำมีความสำคัญต่อชีวิตในทุก ๆ มิติของเขา แล้วองค์กรที่ทำงานที่รักษา อนุรักษ์แม่น้ำก็เลยร่วมมือกันกับชนเผ่าพื้นเมืองว่าทำงานร่วมกัน แล้วก็ตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อที่จะยกระดับแม่น้ำให้มีสถานะเป็นบุคคล

แล้วพูดคุยกับรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลระดับประเทศ จนท้ายที่สุดรัฐบาลยอมรับและเห็น ความสำคัญว่า ถ้าเราไม่มีแม่น้ำในฐานะที่เป็นบุคคล หรือมีสิทธิเท่ากับพวกเรา มนุษย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีการหวงแหน ไม่มีการอนุรักษ์

อนุรักษ์ดีอย่างไร

อนุรักษ์คือให้คนได้ใช้ด้วย ไม่ใช่อนุรักษ์อย่างเดียว โดยที่คนไม่ได้ใช้ อันนี้คือแม่น้ำมีสิทธิที่จะรักษาชีวิตผู้คน ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องรักษาชีวิตของเขาด้วย มันต้องมีความสมดุลกัน

เวลาจะเกิดเหตุอะไรก็ตามกับแม่น้ำ จะต้องจะใช้แม่น้ำในทางวัตถุประสงค์อะไรต่าง ๆ องค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่เลยบอกว่า ใช้ได้ในระดับมากน้อยขนาดไหน แม่น้ำพูดไม่ได้ จะพูดในนามองค์กร องค์กรจะทำหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิของแม่น้ำนั้น

ด้าน ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ กล่าวว่า จริง ๆ เราคงไม่ต้องไปเลียนแบบ หรือว่าไปมองตัวอย่างจากต่างประเทศเท่าไรนัก แต่ว่าในต่างประเทศมีนัยสำคัญที่ว่าอย่างนิวซีแลนด์ 15 ปี ที่มอบสิทธิให้กับแม่น้ำแล้วแม่น้ำก็ดีขึ้น มีตัวแทนในการพูดคุยแทนแม่น้ำ

คำถามคือว่า เราต้องไปเลียนแบบนิวซีแลนด์ไหม ก็คงจะไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเราเองมีความเชื่อเรื่องต่าง ๆ มาพอสมควรแล้ว เรื่องของแม่น้ำ เรื่องดิน น้ำ ป่า เรามีผู้ที่ปกป้องรักษาดูแลอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิม เราสามารถดึงความเชื่อดั้งเดิมยกระดับขึ้นมาเป็นสิทธิแบบที่คนสมัยใหม่

ผมว่าเราทำได้ เราไม่จำเป็นต้องไปอ้างอิงกฎหมายใด ๆ แล้วก็มองเห็นถึงเรื่องของการที่ให้เสียงของประชาชน หรือเสียงรัฐบาลเป็นตัวแทนของแม่น้ำก็ได้

อย่างที่นิวซีแลนด์มีตัวแทนสองฝ่าย ทั้ง ตัวแทนรัฐบาล และตัวแทนประชาชน ก็มาสนทนามาวางแผนทำงาน มาวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน แม่น้ำก็เหมือนกับบุคคล เหมือนกับ อบต.ก็ได้นะครับ มันไหลไปหลาย ๆ ที่ แม่น้ำสามารถมีตัวแทนพูดแทนได้ครับ”

สิทธิแม่น้ำกับพลังชาวบ้านเพียงพอต้องรองรับด้วยรัฐ

ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ระบุว่า จริง ๆ แล้วองค์กรที่ทำหน้าที่พูดแทนแม่น้ำ พูดแทนธรรมชาติ ต้องมีหนึ่งองค์กรแน่ ๆ แต่จะต้องประกอบด้วยภาคส่วน กฎหมาย รองรับด้วยรัฐด้วย ไม่เช่นนั้นมันจะทำงานไม่ได้ มันต้องอาศัยรัฐ อาศัยภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ชาวบ้าน ทำงานร่วมกัน จึงจะขับเคลื่อนและผลักดันให้แม่น้ำ มีฐานะเป็นนิติบุคคลได้

ชาวบ้านอย่างเดียวคงไม่พอ เหมือนที่คำปิ่นพูดว่า เราต้องอาศัยพละกำลังอย่างมหาศาลทุกองคาพยพ ในสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำหรือจัดการแม่น้ำเราต้องมีจุดมุ่งมายเดียวกันด้วย มีโลกทัศน์มีความคิด ความเชื่อคล้าย ๆ กัน ในการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ต้องใช้ระยะเวลายาวนานในสังคมไทย

ข้อท้าทายใหญ่ของ “สิทธิแม่น้ำ”จะทำให้เกิดขึ้นได้คืออะไร

ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า กระบวนความคิด การยอมรับหรือการมีค่านิยมร่วมกันในเรื่องของสิทธิ ความเสมอภาค อันนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่มีความคิดร่วมกันในเรื่องสิทธิ ความเสมอภาคหรือเคารพซึ่งกันและกัน อาจารย์คิดว่ามันจะเคลื่อนยากมาก

 

ในเรื่องการทำให้แม่น้ำมีสถานะเป็นบุคคล เช่น แม่น้ำหนึ่งสาย แม่น้ำสงครามหรือแม่น้ำโขง ถ้าเราไม่มีความคิด ไม่มีความเชื่อ หรือมีโลกทัศน์คล้ายๆ กัน เช่น แม่น้ำมีสิทธิ ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ มันทำงานได้ยากมาก มันจะเริ่มจากที่มีค่านิยม มีความคิด มีคุณค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน มันถึงจะสำเร็จ ถ้าเริ่มจากก้าวนี้แล้วอะไรที่่เป็นข้อกฎหมายตามมาเชิงรูปธรรมมันจะเกิดขึ้นง่าย อาจารย์เชื่ออย่างนั้น

คำปิ่น อักษร กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องที่ยาวไกล แต่สิ่งที่พี่น้องชาวบ้านตามุยเผชิญคือในเรื่องเขื่อนที่กำลังจะมา บริษัทพลังงาน หรือว่าอะไรต่าง ๆ เราก็กังวลอยู่ แต่ว่าในสิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ เราพยายามที่จะร่วมผลักดันที่จะมาดูมิติในเรื่องสิทธิมีอะไรบ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง