วันนี้ (6 ก.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) อภิปรายถึงที่มาของงบประมาณ วงเงิน 79,000 ล้านบาท โดยเห็นตรงกันว่าปัญหาการจัดเก็บรายได้ กทม. ที่เดิมทีมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยสามารถจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ได้ถึง 15,000 ล้านบาท
แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการลดหย่อนตามบทเฉพาะกาล และปรับลดภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ของ กทม.ลดลงอย่างมาก โดยปี 2564 กทม.มีรายได้จากส่วนนี้เพียง 1,800 ล้านบาท
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า การเก็บภาษีป้ายมีอัตราค่าธรรมเนียม เท่าที่ประเมินเบื้องต้นการจัดเก็บในปี 2565 น่าจะเกินเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ พร้อมยอมรับว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมีข้อจำกัด
จากการสำรวจพบว่า สภาพพื้นที่จริงเปลี่ยนแปลงไป ไม่สอดคล้องกับโฉนด และไม่ได้รับความร่วมมือ โดยเฉพาะเมื่อประเมินราคาภาษีไปแล้วบางเขตมากกว่าครึ่งที่หนังสือถูกส่งตีกลับ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาระบบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
อีกประเด็นที่มีสมาชิกอภิปรายค่อนข้างมาก คือปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยนางลักขณา ภักดีนฤนาถ ส.ก.พรรคก้าวไกล เสนอให้ฝ่ายบริหารจัดสรรงบประมาณมาให้ศูนย์ละ 1 ล้านบาท และดูแลสวัสดิการให้ครูอาสาที่เป็นพี่เลี้ยง
น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ อยู่แล้ว และไม่ได้แยกการทำงานระหว่างรองผู้ว่าฯ สองคนที่กำกับดูแล พร้อมยอมรับว่า สิ่งที่สมาชิกอภิปรายเป็นปัญหาจริง ส่วนเรื่องสวัสดิการครูอาสาในศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน จะต้องไปแก้ไขข้อบัญญัติ จึงจะสามารถดูแลสวัสดิการและบรรจุครูผู้ดูแลเด็กได้ตามข้อเสนอของสมาชิก
อ่านข่าวอื่นๆ
สภา กทม.เรียกร้องผู้มีอำนาจเดินหน้า "เลือกตั้ง ส.ข."
กางร่างงบฯ กทม.ปี 66 วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท
"ชัชชาติ" ย้ำทำงานระดับท้องถิ่น ขออย่าเปรียบเทียบกับนายกฯ