วันนี้ (20 ก.ค.2565) ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์หญิงอายุ 34 ปี หนึ่งในผู้ติดเชื้อ COVID-19 คนนี้ เกี่ยวกับการรักษา เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง BMI เกิน โดยเธอมีน้ำหนัก 104 กิโลกรัม ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI อยู่ระหว่าง 37-38 ซึ่งติดเชื้อ COVID-19 เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีสิทธิประกันสังคม แต่เธอบอกว่าต้องมีอาการมากจึงจะได้ยาต้านไวรัส
เธอจึงตัดสินใจไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในระบบ Home Isolation เมื่อแพทย์สอบถามว่า ต้องการรับยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ เพราะเข้าเกณฑ์เนื่องจากมีภาวะอ้วน เธอจึงตอบตกลงรับยาดังกล่าว โดยมีค่าใช้จ่าย 4,800 บาท ต้องกินยา 64 เม็ด รวม 5 วัน และมีค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าแพทย์ พยาบาล และยาอื่น ๆ รวมทั้งหมด 7,000 บาท ใช้เวลารักษาตัวเกือบ 2 สัปดาห์จึงหายเป็นปกติ
"ถ้าไปโรงพยาบาลตามสิทธิต้องรอให้มีอาการก่อน เช่น ไข้ขึ้น ไอหนัก เจ็บคอ ถึงจะได้ยาต้าน แต่เราไม่ต้องการเอาร่างกายไปเสี่ยงแบบนั้น เพราะอยู่ในกลุ่ม 608 เพราะน้ำหนักเกิน BMI เกิน เลยคิดว่าไป รพ.เอกชนน่าจะเข้าถึงการรักษาได้เร็วกว่า เมื่อคุณหมอถามว่าต้องการรับยาฟาวิฯ หรือไม่ จึงตอบว่า ต้องการ"
ชงเร่งจัดหายาต้านไวรัสให้กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิรักษา
ขณะที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา ระบุว่า สิ่งสำคัญขณะนี้ต้องให้ยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงให้เร็ว และเข้าถึงง่ายในทุกสิทธิการรักษา เพราะหากได้รับยาช้าจะกลายเป็นผู้ป่วยหนัก ส่งผลต่ออัตราครองเตียงในโรงพยาบาล จึงเสนอว่าหากยาขาดแคลน รัฐก็ต้องรีบจัดหา อย่าให้มีปัญหาคอขวด และต้องแก้ปัญหาให้เร็วก่อนที่จะถึงจุดพีกของการระบาด คาดว่าเป็นช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้
รัฐน่าจะรีบช่วย ๆ หายา พยายามให้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงยาได้ง่ายและสะดวก ไม่เป็นปัญหาคอขวด