วันนี้ (24 ก.ค.2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการหารือระหว่างบอร์ดบริษัทกรุงเทพธนาคม (KT) และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC เกี่ยวกับประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งเรื่องสัมปทาน และการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย โดยระบุว่าการหารือครั้งล่าสุด ได้ข้อสรุประดับหนึ่ง ทาง กทม.จะต้องดู 2 เรื่องคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง กทม.และกรุงเทพธนาคมเป็นอย่างไร จะจัดการเรื่องหนี้อย่างไร และสภา กทม.จะมองอย่างไร เพราะสุดท้าย สภา กทม.เป็นผู้อนุมัติ แต่ตอนนี้ยังติดพิจารณางบประมาณอยู่
ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องการคิดราคาส่วนต่อขยาย ส่วนที่ 2 (ห้าแยกลาดพร้าว- คูคต) ขณะนี้สำนักจราจรและขนส่งของกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างทำเรื่อง เหลือการคำนวณและประกาศราคา แต่ต้องใช้เวลา เพราะต้องให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพเตรียมตัว 1 เดือน
ส่วนเรื่องระหว่างกรุงเทพธนาคมและเอกชน ต้องไปเจรจากัน เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง กทม.กับกรุงเทพธนาคมจะมีความผูกพันอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นประเด็นที่สำคัญและละเอียดอ่อน เพราะถ้าจะนำเงินไปจ่ายทางกรุงเทพธนาคม ก็ต้องมั่นใจว่ามีข้อสัญญาที่ถูกต้องและได้รับการอนุมัติตามขั้นตอน
ทั้งนี้ คาดว่า การกำหนดราคาส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ที่ยังไม่ได่เก็บเงิน จะได้ความชัดเจนในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งราคาจะใช้จนถึงปี 2572 ในส่วนนี้ต้องรีบ เพราะ กทม. เสียค่าจ้างเดินรถปีละหลายพันล้านบาท แต่ไม่ได้เก็บเงินเลย ทำให้เป็นหนี้สะสม
ดังนั้นต้องหารายได้เข้ามา แต่ต้องคิดอย่างละเอียด ไม่อยากให้เป็นภาระพี่น้องประชาชน อย่างที่สภาองค์กรผู้บริโภคเรียกร้องไม่อยากให้เก็บเพิ่ม อยากให้เก็บที่ราคา 44 บาท (ราคาเดิมตลอดสาย) ซึ่งคิดแล้วจะกระทบต่อรายได้ของ กทม. ทำให้มีหนี้มากขึ้น ก็ต้องหากรอบที่ไม่เกินราคาเดิมที่เคยกำหนดไว้ 59 จะคิดอย่างไรมีสูตรให้อยู่ น่าจะประกาศได้ราคาได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
ส่วนตัวไม่กังวลดรามา ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า ให้นั่งฟรี แต่ กทม.ต้องเสียค่าใช้จ่าย กลายเป็นว่าทุกคนในกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าโดยสารในส่วนนี้ ในแง่หนึ่งไม่เป็นธรรมเท่าไร ต้องคุยกันด้วยเหตุผล คงจะไม่มีดรามาเพราะเป็นข้อเท็จจริง และอีกอย่างคือมันมีผลกระทบกับรถสาธารณะด้านล่าง ถ้าข้างบนวิ่งฟรี ข้างล่างก็ทำมาหากินลำบาก
แต่ละปีเป็นหนี้ 4-5 พันล้านบาท ซึ่งค่อนข้างหนัก ถ้าไม่เก็บเลยจะเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ และ กทม.จะไปดูรายได้จากโฆษณาด้วย จะเอามาจุนเจืออย่างไร แต่ทั้งหมดต้องเข้าสภา กทม.ก่อน เพราะส่วนต่างที่เหลือ ที่ กทม.ต้องจ่ายโดยงบประมาณ สภา กทม.ต้องรับรู้ ว่าเก็บราคาเท่านี้ แล้วจะมีส่วนต่างที่ กทม.ต้องจ่ายเท่าไร เพราะสภาฯ ต้องพิจารณางบประมาณไปจ่าย